27 กุมภาพันธ์ 2555

ไสแผ่นหลัง Valentine


หลังจากผ่านการตัดมาแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการไสปรับรูปทรงด้านนอกของแผ่นหลังก่อน  ส่วนด้านในก็เก็บไว้ทำหลังจากที่ไสด้านนอกแล้ว  เครื่องมือที่ได้ก็พื้นฐานทั่วไปครับ  มีสิ่วโค้ง  กบท้องมน อาจมีฆ้อนพลาสติกด้วยในบางช่วง  จะใช้ฆ้อนไม้หรือตะลุมพุก็ได้

  
การไสแผ่นหลังมีหลักอยู่ว่า เราจะไสปรับบริเวณขอบรอบ ๆ ออกให้บางเหลือประมาณ 5 ม.ม. ในขั้นต้นก่อน ค่อยๆ ไล่ระดับไปให้สูงขึ้น บริเวณตรงกลางจะสูงซึ่งจะสูงสุดประมาณ 1.5 ซ.ม. 

  
เริ่มต้นอาจจะใช้สิ่วหรือกบก็ได้แล้วแต่ถนัด ถ้าเป็นกบก็ต้องใช้ขนาดใหญ่หน่อยกินเนื้อไม้ลึก ถ้าใช้ตัวเล็กก็ได้แต่คงเหนื่อยมากและใช้เวลานาน  ช่วงแรกผมยังไม่สนใจทิศทางการไสเท่าไหร่  เรียกว่าเน้นเอาเนื้อไม้ที่ไม่ใช้ออกให้มากที่สุดก่อน  อาจย้อนเสี้ยนบ้างแล้วค่อยมาปรับอีกที


การใช้สิ่วสลับกับการใช้กบ  ผมยังใช้เทคนิคเดิมคือเน้นเอาเนื้อไม้ออก  ช่วงแรกที่ไม้ยังหนาอยู่ก็ยังไม่ต้องระวังมากแต่พอเริ่มบางได้รูปทรงแล้วการใช้สิ่วต้องละเอียดและดูแนวเสี้ยนไม้ด้วย  เพราะอาจทำให้ไม้ฉีกได้  พอถึงจะหนึ่งก็จะเลิกใช้สิ่ว  


เมื่อไสถึงจุดหนึ่งเริ่มมีรูปทรง ไม้บางลง ก็จะเป็นหน้าที่ของกบตัวเก่ง ค่อยๆ ไสปรับไปเรื่อยๆ 

เศษไม้และขี้กบ จากการไสไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลังที่กำลังทำ  การทำงานไม้หนีไม่พ้นเรื่องฝุ่น คนทำก็ต้องมอมแมมบ้าง แต่ใจรักก็ทำได้อยู่แล้ว


ช่วงโค้งตัวซี ผมชอบใช้สิ่วค่อยๆ ขุดออก บางทีก็ใช้ฆ้อนพลาสติกตอกบ้าง ลดการใช้กำลังอย่างเดียว


เครื่องมือตัวนี้ใช้ในการควบคุมความสูงของแผ่นหลัง  โดยใช้จุดกึ่งกลางของแผ่นหลังเป็นเกณฑ์  ตั้งเครื่องมือวัดไว้ที่ความสูง 1.5 ซ.ม. ถ้าดันเข้าไปถึงตรงกลางได้ถือว่าผ่าน 

การบังคับรูปทรงก็ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด  ทั้งสายตา มือสัมผัส หูฟังเสียงไม้  รวมทั้งทักษะและประสบการณ์  ซึ่งอธิบายได้ยากลำบากสิ่งเดียวที่ช่วยได้คือต้องปฏิบัติด้วยตนเอง และถ้ามีผู้รู้ช่วยแนะนำก็จะเป็นประโยชน์


22 กุมภาพันธ์ 2555

ตัดแผ่นหลัง ไม้เมเปิล


การตัดไม้เมเปิล ซึ่งจะใช้ทำเป็นแผ่นหลังของไวโอลิน  เริ่มต้นก็ต้องหาไม้ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก..... อ้าว .... ก็ต้องอย่างนั้นสิ  เอ วันนี้เขียนอย่างไงนี่  ออกแนวกวนกวน  คือจริงๆ แล้ว การหาไม้เมเปิลไม่ยาก แต่การจะเลือกแผ่นไหนลายไม้เป็นอย่างไง  จะวางตำแหน่งการหรือเอาด้านไหนอยู่ในอยู่นอก  เพื่อให้งานออกมาสวยงาม  เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  ขึ้นกับสายตาประสบการณ์ของผู้สร้างแต่ละคน  อย่างแผ่นที่เห็นในรูปผมว่าอันนี้ยังไม่ค่อยยาก  แผ่นนี้เป็นไม้ชิ้นเดียวหน้ากว้าง 12 นิ้ว ยาวประมาณ 16 นิ้ว หนาเกือบ 1 นิ้ว เป็นไม้ที่ตัดมาแบบ slab saw เป็นการตัดผ่าลำต้นไม้ จากเปลือกไม้ด้านหนึ่งขาดไปอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งจะเห็นลายไม้ลักษณะอย่างในภาพ  การแปรรูปไม้ในปัจจุบันจึงเป็นการตัดในลักษณะนี้เพราะจะได้ไม้หน้ากว้าง เสียไม้น้อยกว่า    ส่วนการตัดอีกแบบคือการตัดแบบ Quarter saw เป็นการตัดแบบการเค้ก ซึ่งไม้แผ่นหน้าของไวโอลินเป็นการตัดแบบอย่างหลังนี้  จึงทำให้เห็นลายไม้เป็นแนวเส้นๆ อย่างที่เห็น  เส้นที่ว่านี้ก็คือเส้นวงปีของต้นไม้นั่นเอง


เราต้องไสปรับหน้าให้เรียบก่อนด้วยกบ  แต่ถ้าไม่ใช้กบก็ใช้เครื่องจักรไสไปซัก 2-3 รอบออกมาเรียบ  แต่ผมไม่ได้ใช้วิธีนี้เพราะไม่มีและไม่เหมาะสมที่จะใช้   เอาเป็นว่าขออธิบายในแบบที่ผมทำดีกว่า   หลังจากที่ได้ไม้ที่เรียบๆ แล้ว  เราจะเอาโครงข้างของไวโอลินหรือ Rib  ที่ขึ้นรูปไว้แล้วมาทาบแล้วลากเส้นตามแนวขอบ  ส่วนเส้นนอกใช้แหวนรองน็อตเล็ก ๆ แล้วขีดเป็นแนวอีกครั้งจะได้เป็นเส้นนอก  ซึ่งเส้นนอกนี้ก็คือเส้นแนวการตัด  ส่วนด้านที่เราเลือกนี้จะเป็นด้านในของแผ่นหลังเวลาประกอบเราจะไม่เห็นลายไม้ด้านนี้แต่จะเป็นอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งเราจะต้องเลือกดูก่อนที่จะวาดแนวการตัด  ไม้แผ่นนี้ลายจะเป็นแบบ The Everest 


เครื่องมือที่ใช้ในการตัดเป็นรุ่นพิเศษ  เพราะรุ่นนี้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า  ไม่ใช้น้ำมัน  เสียงเงียบไม่รบกวนใครที่สำคัญราคาถูกมาก  ไม่ต้องลงทุนเป็นหมื่นเป็นแสน  ใครๆ ก็ซื้อได้น่าใช้มาก


เลื่อยฉลุ Coping saw นี่เอง  ใช้แรงกายล้วนๆ  ข้างๆ นั้นเป็นโครงข้างที่ประกอบแผ่นหน้าแล้ว  ไม้ที่เราจะตัดนี้จะเป็นแผ่นหลังของไวโอลินตัวนี้ครับ 


การตัดไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาก เริ่มต้นตรงไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก ผมเลือกตรงมุมก่อนมันใกล้ดี วางไม้บนโต๊ะ หาปากกาจับไว้ให้แน่นแล้วลงมือตัด  จะใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้ไม่ว่ากัน  แต่พยายามให้ใบเลื่อยอยู่ในแนวตั้งฉากเป็นใช้ได้งานจะออกมาสวย 


เวลาตัดบางช่วงก็ง่าย  บางช่วงก็ยาก เพราะเป็นการตัดแนวโค้ง  ซึ่งจะต้องเจอทั้งการตัดตามแนวเสี้ยนและตัดแนวขวางเสี้ยน  ตามแนวเสี้ยนก็คือตามยาวแนวลายไม้  อันนี้จะตัดยากคือเลื่อยจะไม่ค่อยกินไม้เท่าไหร่  ส่วนตัดขวางจะไม่ค่อยยากเท่าไหร่  แต่ไวโอลินทรงออกแนวยาวมากกว่ากว้าง การตัดจึงต้องเจองานยากมากกว่าง่าย  

ชิ้นแรกที่ตัดออกมา  ใช้เวลาไป 35 นาที 


แนวโค้งตัว C บางทีก็ใช้เลื่อยอื่นร่วมด้วยก็ได้ ตัดขวางเสี้ยนแนวตรง  เพื่อความรวดเร็ว  หยดน้ำที่เปียกหยาดเหงื่อแรงกายล้วนๆ เลย


ตรงมุมที่วงเลี้ยวไม่ได้ก็ต้องตัดบางส่วนออกก่อน  แล้วจึ่งมาขึ้นต้นใหม่


ถึงช่วงปุ่มคอก็ถอยเลื่อยออก เลื่อยมันเลี้ยวหักมุมลำบาก  แล้วมาเริ่มตัดใหม่จากอีกด้านหนึ่่งจะง่ายกว่า


เสร็จไปกว่าครึ่งแล้ว  ที่เหลืออีกครึ่งก็ทำแบบเดียวกัน  แต่สลับด้านกัน

แล้วชิ้นสุดท้ายก็ถูกตัดออกมา  ใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง กับอีก 25 นาทีครับ  จากนั้นก็ตามด้วยน้ำอีกแก้วครึ่ง เสียเหงื่อไปเยอะ  


เลื่อยตัวนี้มีความพิเศษคือสามารุถปรับทิศทางใบเลื่อยได้  เวลาโครงเลื่อยเริ่มติดเราก็บิดหมุนปรับทิศทาง แต่ต้องปรับตัวบนและล่างให้อยู่แนวเดียวกัน


ลายอีกด้านหนึ่งของแผ่นไม้ ซึ่งด้านนี้จะอยู่ด้านนอก  เราจะเห็นลวดลายของแผ่นหลังจากด้านนีั  ตอนหน้าจะเป็นการทำที่ต่อจากขั้นตอนนี้  คือไสปรับด้านนอกสร้างรูปทรงให้โค้งนูนเหมือนไวโอลินที่เราเห็น


ไวโอลินตัวนี้ขอเรียกว่า Valentine แล้วกันนะครับ เพราะวันที่ผมทำ Bass bar เสร็จ และประกอบแผ่นหน้าเข้ากับโครงข้าง Rib  เป็นวันแห่งความรักพอดี



17 กุมภาพันธ์ 2555

มะค่า

มะค่าโมงเป็นไม้เนื้อแข็งสีออกน้ำตาลแก่ ผมเห็นเครื่องเรือนหลายอย่างทำจากไม้มะค่าโมง ปัจจุบันเท่่าที่ทราบในบ้านเราเรียกว่าหาได้ยาก ที่เห็นก็ส่วนใหญ่จะมาจากเพื่อนบ้านของเรา


ลักษณะของไม้มะค่าโมง สีน้ำตาลไหม้ แข็ง เสี้ยนหยาบกว่าเมื่อเทียบกับไม้เมเปิล ไม้ท่อนนี้เป็นไม้เก่าซึ่งเก็บมาประมาณ 30-40 ปีแล้ว  ผมได้รับมาจากแปะเง็ก (คุณลุงเง็ก) อดีตท่านเป็นช่างไม้ต่อกระบะรถสิบล้อสมัยก่อนซึ่งเดี๋ยวนี้จะเป็นเหล็กไปเกือบหมดแล้ว ปัจจุบันแปะเง็กอายุ 83 แล้ว  แต่ก็ยังแข็งแรงยังทำงานไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ให้ลูกหลานได้ แม้สายตาจะฝ้าฟางไปบ้าง 


ลักษณะของไม้มะค่าโมงเปรียบเทียบกับไม้เมเปิล  สีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื้อไม้เมเปิลจะละเอียดกว่าไม้มะค่าโมง  ผมได้ลองเอาไม้มะค่ามาทำเป็นแผ่นหลังของไวโอลิน แทนไม้เมเปิลตามแบบฉบับเดิม



นี่คือไวโอลินที่ทำจากไม้มะค่า ผมยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกน้องมะค่าไปก่อน แผ่นหน้าสร้างจากไม้สน  ฟิงเกอร์บอร์ดจากไม้ชิงชัน ที่สีออกน้ำตาลเข้มเช่นกัน


ไม้แผ่นหลังเป็นไม้มะค่าชิ้นเดียว  เมื่อผ่านการวานิชทำให้สียิ่งเข้มยิ่งขึ้น  



ตลอดแนวขอบผมฝังไม้เมเปิลสีขาวไว้  เพื่อตัดให้ดูเด่นขึ้น  บริเวณปุ่มคอฝังหมุดไม้เมเปิลไว้เช่นกันแต่ดูแล้วอาจไม่ค่อยชัดนัก





Fitting  เป็นไม้พุทรา หางปลาแบบโค้งมน ฝังเปลือกหอยไว้  ติดตั้งตัวปรับละเอียดไว้ทุกสาย  เพื่อให้ตั้งสายได้ง่ายขึ้น




ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดี น้องลาริซ่า ( Larisa Spitzer) ได้ทดสอบเสียงเปรียบเทียบกับไวโอลินทั่วไปแล้วจะมีเสียงเป็นอย่างไร  ต้องขอขอบคุณน้องลาริซ่าอีกครั้งครับ

12 กุมภาพันธ์ 2555

ทำกบ ภาค2


ต่อจากตอนที่แล้ว วันนี้จะเป็นการทำกบตัวที่เห็นในภาพ เป็นกบที่ทำจากกระพี้ไม้ชิงชัน ถึงแม้จะเป็นกระพี้แต่ก็มีความแข็งและเหนียวสามารถทำเป็นเครื่องมือต่าง ๆ ได้ดี ตัวนี้เน้นออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้งานมากกว่าให้สวยงาม เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นให้จับได้ถนัดมือ ความยาวประมาณ 2 นิ้วเศษ


เริ่มต้นจากการเตรียมไม้ ใบกบกว้าง 1.5 เซนติเมตร


ผมตัดไม้ออกมาเป็นท่อน ๆ ยาวชิ้นละประมาณ 2.5 นิ้ว ตัดไว้ 4 ท่อน ที่ต้องใช้หลายท่อนเพราะต้องการใช้กบมีความสูงมากหน่อย เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับจับมากขึ้น


เอาไม้มาต่อกันโดยใช้กาว (ใช้กาวร้อนหรือลาเท็กก็ได้ กาวอีพร็อกซี่ก็ไม่ว่ากัน) ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท


ขั้นตอนต่อไป เป็นการวาดมุมเพื่อทำช่องใส่ใบกบ เส้นสีแดงเป็นมุมของใบกบ ส่วนเส้นอีกด้านเป็นช่องปากสำหรับให้ขี้กบออก ตัวนี้อาจจะแปลกกว่าทุกตัวที่เคยทำมา แต่อาศัยว่าเคยทำมาหลายแบบแล้วเลยทำจากความเข้าใจซะมากกว่า ดูแล้วอาจจะงงๆ ก็ได้ แต่ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจ


เดี๋ยวเราจะเซาะเนื้อไม้ในบริเวณที่เราขีดร่างไว้ แล้วค่อยเอาทั้งสองชิ้นมาประกอบกันอีกที งงไม๊


ลองประกบกันดูก่อน แล้วเอาใบกบมาวัดว่าจะต้องเซาะช่องให้กว้างแค่ไหน ผมต้องเน้นภาพเพื่อให้เข้าใจง่าย


หลังจากวัดเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้โครงร่างที่ต้องตัดเซาะออกตามรูป


ใช้เลื่อยตัด ตัดแค่ระดับที่เราวัดไว้ ห้ามตัดขาด


จากนั้นใช้สิ่วเซาะเอาเนื้อไม้ออก


ทำเหมือนกันทั้งสองชิ้น พยายามปรับผิวที่เซาะออกให้เรียบ ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำช่องปากกบ


ทากาว เพื่อที่จะประกอบทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน


ประกบทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน โดยให้แนวช่องปากตรงกันอย่าให้เหลื่อม ทิ้งให้กาวแห้งสนิท ขึ้นอยู่กับชนิดของกาวที่ใช้


ท้องกบ และช่องปากกบ หลังจากที่กาวแห้งแล้ว ตัวกบนี้ต้องขัดแต่งท้องให้โค้งเล็กน้อย และขัดแต่งด้วยบุ้ง ตะไบ และกระดาษทราย ให้ดูเนียนมน ให้จับได้อย่างถนัดมือ


เจาะนำ เพื่อใส่เหล็กไว้ขัดกับลิ่มไม้ ไม่แน่ใจว่าเรียกถูกเรียกผิดหรือเปล่า


ใช่สว่านเจาะรู เจาะให้ได้ฉาก


ผมประยุกติ์ให้เหล็กตัวเอส ที่ใช้แขวนของมาตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเส้นตรง ความยาวเท่ากับความกว้างของตัวกบ


ที่เจาะ2 รู เพราะว่าคำนวนระยะผิด เลยต้องเจาะใหม่อีกรู หลักการไม่ได้มีอะไรมาก เส้นสีแดงที่วาดเป็นแนวของใบกบที่จะใส่เข้า ส่วนรูที่เจาะเราจะใส่เหล็กที่ตัดไว้เข้าไป ไว้เป็นที่ขัดเวลาใส่ลิ่มเข้าไป


ใส่เหล็กที่ตัดไว้ แล้วขัดแต่งกบให้เรียบร้อย


ลับใบกบ ให้คบกริบ


ตัดลิ่มไม้ชิงชัน ให้มีลักษณะตามภาพ


เป็นอันว่าได้ชิ้นส่วนครบทั้งหมด พร้อมที่จะประกอบเป็นกบให้ใช้งานได้ต่อไป


เสร็จเรียบร้อยครับ ได้กบไว้ใช้สำหรับงานทำไวโอลิน


เป็นกบที่ใช้งานได้ดีมากจนปัจจุบัน ดีกว่าที่คาดคิดแม้ว่าจะไม่สวยนัก จริงๆ แล้วสามารถตัดแต่งรูปทรงใหม่ได้แต่ผมว่าแบบนี้ดีแล้ว เน้นประโยชน์ใช้งานมากกว่าความสวยงามภายนอก