29 พฤษภาคม 2555

Violin Peg Shave

กบ...เหลาลูกบิด


กบเหลาไวโอลิน เป็นเครื่องมือเฉพาะตัวหนึ่งในงานสร้างไวโอลิน งานปรับแต่งลูกบิด  ลักษณะสันฐานก็เหมือนกับกบเหลาดินสอของเรานี่แหละ  พื้นฐานการทำงานก็เหมือนกัน
  


ตัวกบทำจากทองเหลืองมีความแข็งแรง  มั่นคง ทนทานสามารถใช้งานได้ยาวนาน   ด้านบนก็จะเป็นใบมีด  ซึ่งชุดนี้มีใบมีด 2 ขนาด ซึ่งใช้สำหรับลูกบิดไวโอลินขนาด 3/4 และขนาด 4/4  การใช้งานเหมือนกบเหลาดินสอ  ในภาพเป็นลูกบิดไม้ ebony  เนื้อไม้เป็นสีดำ ขี้กบเมื่อเหลาออกมาก็เป็นสีดำโดยธรรมชาติของมัน


การเหลาลูกบิดเพื่อเป็นปรับขนาดและช่วยทำให้ผิวหน้ามีความกลมเรียบสม่ำเสมอ  มีผลตอนบิดตั้งสายจะไม่รู้สึกว่ามันสะดุด บางจังหวะแน่นบางจังหวะหลวม  ตั้งสายได้ง่ายขึ้น

15 พฤษภาคม 2555

1711




วรรณกรรมเรื่องล่าสุดที่ผมมีโอกาสได้อ่านจนจบอีกเล่มหนึ่ง  เป็นหนังสือที่หนาที่สุดที่เคยอ่าน 1328 หน้า หนาและหนัก และก็หนักกว่าไวโอลิน 2 ตัวรวมกันเสียอีก ลองชั่งดูมันหนัก 1.3 กิโลกรัม  เป็นอุปสรรคเดียวในการอ่านหนังสือเล่มนี้  ..........บทสรุปที่ปกหนังเขียนไว้ว่า


เรื่องราวที่รวมศูนย์อยู่ที่วิหารคิงส์บริดจ์ในประเทศอังกฤษของศวรรษที่ 14 ตัวละครหลักคือเพื่อนในวัยเด็ก 4 คน ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันตลอด 3 ทศวรรษต่อมา ร่วมกับชาวเมืองของยุคมืด 

ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใหญ่หลวง ยุคสมัยที่ศาสนาและระบบขุนนางควบคุมชะตาชีวิตผู้คน สงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส โรคระบาดซึ่งคร่าชีวิตคนไปหนึ่งในสามของทั้งทวีปยุโรป ความอดหยากจากสภาพอากาศที่เลวร้าย เหล่านั้นคือฉากหลังของชีวิตตัวละครในเรื่อง ตัวละครซึ่งมีทั้งความดีความเลว ความรักและความเกลียดชัง ความทะเยอทะยาน และริษยาอาฆาต ผู้อ่านจะมีความรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในสมัยนั้นอย่างแท้จริง ตัวละครทุกตัวมีชีวิตจิตใจมีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณเหมือนเช่นคนธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป คนดีไม่จำเป็นว่าจะได้ผลตอบแทนในทางที่ดีเสมอไป และคนร้ายก็ไม่ถูกลงโทษไปเสียทุกครั้ง

นี่คือโลกของความจริง โลกซึ่งคนเหมาะสมเท่านั้นจะมีชีวิตอยู่รอด 

ผู้แปล ดร.กุลธิดา บุญยะกุล ได้ให้ความเห็นในตอนท้ายของบทนำว่า

มีหนังสือมากมายที่เมื่อจบหน้าสุดท้ายแล้ว  ผู้อ่านแทบจะจำอะไรไม่ได้เลย เพราะขาดความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหาและตัวละคร   ในเวลาเดียวกันก็มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่แม้เมื่ออ่านจบแล้ว  ความรู้สึกที่ได้จะยังคงค้างคาไปอีกนานเท่านาน...................

ผมเห็นด้วยกับท่านและขอชื่นชมผู้เขียน  Ken Follett  ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์ผ่าน 4 ตัวละครหลักเหมือนมีชีวิตอยู่จริงในยุคนั้น  หนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับไวโอลิน  แต่มีตัวละครหลักคนหนึ่งเป็นช่างไม้ผู้ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นสมาชิกสมาคมช่าง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้  .........  เป็นหนังสือดีที่อยากแนะนำครับ

9 พฤษภาคม 2555

ของเก่า.....เก่า

ของเก่าแต่ไม่ไร้คุณค่า


เคยเล่าถึงไวโอลินเก่าไปแล้วหลายตัว  แต่วันนี้จะไม่พูดถึงไวโอลินเก่า .........ในการเล่นไวโอลินมันก็ต้องมีอุปกรณ์อย่างอื่นด้วยที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างสาย ยางสน


ทุกอย่างที่ว่ามามันอยู่ในถุงนี้.....เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจาก Greensburg ประเทศสหรัฐอเมริกา ห่อมาอย่างกับถุงขนมอะไรซักอย่าง  ติดตามมาชมกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

Rosin ที่บรรจุในไม้ก็อก ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา  ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีให้เห็นหรือเปล่า

สภาพที่ดูเหมือนไม่ค่อยได้ใช้งาน  ลองทดสอบดูยังสามารถใช้งานได้อยู่



ต่อมาก็เป็นสายไวโอลินเก่าเก่า  ซองที่ห่อมาเปื่อยมาก จับแรงไม่ได้เลยโดนเป็นต้องขาด



สายชนิดโลหะ ball end อันนี้เป็นสาย E  ยี่ห้อนี้ไม่เคยเห็นยังมีขายอยู่หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ มันผลิดในอเมริกา


สังเกตุดูว่าสายในช่วงแรกนั้นจะไม่มีด้ายหรือไหมสีสี พันหุ้มอยู่  เรียกว่าโชว์สายเปลือยๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลยด้ายที่หุ้มกลายเป็นสิ่งสำคัญมากไปเสียแล้ว  มันกลายเป็นเหมือนรหัสที่บอกถึงยี่ห้อ  รุ่นดีไม่ดี ถูกหรือแพงไปแล้ว


อีกซองหนึ่งที่แรกเข้าใจว่าเหมือนกันพอมาดูแล้วมีจุดที่ต่างกันอยู่  เส้นนี้เป็น loop end

สายแบบห่วง loop end


สายแบบต่อมาต้องเรียกว่าเป็นรุ่นแรกก็ว่าได้ เป็นสายแบบเอ็น gut ในสภาพที่ยังไม่ได้ใช้งาน  ไม่เหมือนกับสายในปัจจุบันซึ่งจะเรียกว่า gut core string หรือเรียกว่าสายที่มีแกนเป็นเอ็น เพราะมันถูกหุ้มด้วยเงินหรืออลูมิเนียมแล้ว


สายเอ็นของอีกยี่ห้อ Master String  เป็นสาย A  ลักษณะคล้ายกับเส้นบน ดูแล้วมันเหมือนเชือกเส้นหนึ่ง


ถัดมาเส้นนี้เป็นสายA แบบโลหะ บนซองมีข้อความระบุว่า Aluminum wound on steel  หมายถึง สายโลหะที่พันด้วยอลูมินั่ม


ซองนี้น่าจะเป็นที่รู้จัก หลายๆ ท่านคงจะคุ้นเคยกับสายหรือกีตาร์ Gibson  วันนี้ได้รู้ว่าเขาทำสายไวโอลินด้วย  ซองนี้มีอยู่ 2 เส้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเส้นบนเพราะป้ายชมพูมีอักษร G อยู่ตรงกับที่ระบุบนซอง


เส้นนี้บรรจุในซอง 2 ชั้น Made in U.S.A  ยี่ห้อ Black diamond string

เส้นสุดท้ายไม่มีซอง เป็นสายD 


เส้นนี้เดาว่าน่าจะเป็นสายเอ็นที่พันด้วยอลูมินั่ม  ปัจจุบันสายไวโอลินพัฒนาไปมากมีสายสังเคราะห์  ล่าสุดได้ข่าวว่ามีการทำพัฒนาสายที่ทำด้วยใยแมงมุม  ที่ยังระบุด้วยว่าให้เสียงที่ดีกว่าสายแบบเก่าที่เคยมีมาด้วย  แต่ไม่รู้ว่าราคาจะพัฒนาไปถึงหลักหมื่นด้วยหรือปล่าว.......

3 พฤษภาคม 2555

The Red Violin

ภาพยนตร์ที่คนรักไวโอลินควรดู

ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องไวโอลินหาความรู้ต่างๆ จากในเน็ต  มีคนที่พูดถึงหนังเรื่องนี้เยอะว่าคนที่รักไวโอลินควรได้ดู  จากนั้นมาผมก็พยายามหาตามร้านที่จำหน่าย ในตลาดนัด แผงค้าต่างๆ แต่ก็หาไม่เจอ .....โถ หนังตั้งแต่ปี 1998  มัน 14 ปีแล้วใครจะมาขายอยู่  แล้วก็ค่อยๆ ลืมไป จนผ่านมาวันนี้ถึงได้มีโอกาสดูจนจบ  มาหาเจอใน YouTube  แม้จะฟังไม่รู้เรื่องเลยไม่มีซับไตเติลแต่ก็พอเข้าใจ    

หลังจากที่ดูจบแบบฟังไม่รู้เรื่อง ก็เกิดความสงสัยว่ามันมีจริงหรือเปล่า สำหรับช่างชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้ Nicolo Bussotti  ลองค้นหาดูปรากฎว่าไม่มี แต่หนังเรื่องนี้สร้างจากแรงบันดาลใจของไวโอลินตัวหนึ่ง Red Mendelssohn 1721  ของ Antonio Stradivari ซึ่งทำวานิชออกโทนสีแดงแต่ไม่ใช่การย้อมสีด้วยเลือดอย่างในหนัง  ไวโอลินตัวนี้ถูกประมูลไปด้วยราคา 1.7 ล้านเหรียญ ที่สถานประมูล Christie กรุงลอนดอน มาอยู่ในมือของ Elizabeth Pitcairn นักไวโอลินฝีมือเยี่ยมในปัจจุบัน (ก่อนหน้าเธอไปดูไวโอลินอีกตัวเป็นของStrad เช่นกัน ราคา 1.4 ล้านเหรียญแต่ยังไม่ถูกใจ)  ดูตัวจริงเสียงจริงจากลิงค์ข้างล่างนี้

http://www.youtube.com/watch?v=4ViTIFEK5Fo

http://en.wikipedia.org/wiki/The_Red_Violin

Red Mendelssohn  สร้างขึ้นเมื่อปี 1721 (ใกล้เคียงกับพี่ Josep Guarnerius ที่ทำขึ้นปี 1725 ) ผมลองคำนวนดูตอนนั้น Stradivari ท่านก็มีอายุ 77 ปี ยุคทองของท่านอยู่ในช่วงปี 1700-1720 หรือช่วงอายุ  56-76 ปี จากโลกนี้ไปตอนอายุ 93 ปี ถือว่าอายุยืนมาก  เพิ่มเติม  http://en.wikipedia.org/wiki/Antonio_Stradivari


สิ่งที่ได้จากการชมหนังเรื่องนี้ เพลงเพราะมากฝีมือการบรรเลงสุดยอดจริงๆ   อยากจะเล่นได้อย่างนี้บ้างจัง (ฝันไป)  หนังที่เล่าเรื่องราวของไวโอลินตั้งแต่เสร็จจากมือช่าง ผ่านระยะเวลา การเดินทางจนมาถึงปัจจุบัน  ทำให้ผมคิดไปถึงพี่ Josef  ไม่รู้ว่าผ่านเรื่องราว ผ่านมือคนมากี่คน  เคยไปอยู่ที่ไหนมาบ้าง กว่าสุดท้ายจะมาอยู่ในมือของผม   




ข้อมูลของหนัง  เรื่องย่อ (ข้อมูลจากเน็ต) 

นี่คือหนังสำหรับคนรักดนตรี โดยเฉพาะเสียงไวโอลิน (จากฝีมือเดี่ยวของโจชัว เบลล์: Joshua Bell) ซึ่งบรรเลงทั้งดนตรีคลาสสิคและดนตรีที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับใช้กับไวโอลินโดย จอห์น คอริกลิอาโน่.(John Corigliano) โดยได้รับรางวัล Oscar สาขา Best Music, Original Score และเป็นบทเพลงที่ยังได้รับคำนิยมจนปัจจุบัน และการตัดต่อที่สมบูรณ์แบบระหว่างอดีตทั้ง 4 ยุคกับปัจจุบัน ที่คุณจะต้องตะลึง… 

การเดินทางระหกระเหินของไวโอลินที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความรักที่รุนแรง และวนเวียนอยู่กับความรู้สึก เช่นนั้น ตลอดเวลาราว 300 ปีที่มี ผู้ผลัดกันครอบครองอย่างน้อย 4 ชั่วอายุคนใน 4 แผ่นดินจากอิตาลี สู่ออสเตรีย อังกฤษและจีน นอกเหนือจากเรื่องราวเข้มข้นของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องประสบเหมือนกันก็คือ…ความตาย ไม่มีใครล่วงรู้ถึงความลึกลับของไวโอลินสีแดงตัวนี้ จนกระทั่ง ชาร์ล มอรร์ริทส์ (Samuel L. Jackson)ได้ซื้อมันมาจากร้านประมูลแห่งหนึ่งในอีก 3 ศตวรรษต่อมา 

พล็อตเรื่องเกี่ยวกับไวโอลินตัวหนึ่งถูกสร้างโดยช่างทำไวโอลินชาวอิตาลี (Nicolo Bussotti) เมื่อสามศตวรรษที่แล้วในปี ค.ศ.1681 เพื่อเตรียมให้กับลูกที่กำลังจะคลอดของเขา โชคร้ายที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตระหว่างคลอด ไวโอลินตัวนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้สร้าง เวลาผ่านไปไวโอลินตัวนี้ถูกบริจาคให้โบสถ์ที่เลี้ยงเด็กกำพร้าในออสเตรีย มีเด็กหลายคนได้เล่นต่อๆกันมา จนมีเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งได้เล่น และมีนักดนตรีที่เห็นแววพาไปที่เวียนนาเพื่อแสดงให้เจ้าชายคัดเลือกสำหรับร่วมในการเดินทางไปรัสเซียของพระองค์ โชคร้ายอีกครั้งที่เด็กคนนี้เสียชีวิตต่อหน้าพระพักตร์ด้วยความเครียดและเดิมเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ไวโอลินถูกฝังพร้อมศพ แต่มีหัวขโมยได้มาขุดหลุมศพนำไวโอลินไป ครั้งนี้ไวโอลินตัวนั้นถูกเล่นต่อๆกันในกลุ่มยิปซีเร่ร่อน จนเมื่อมาถึงอังกฤษ เจ้าของที่ดินที่ยิปซีมาพักซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีสไตล์เฉพาะตัวในสมัยนั้นได้เห็นและนำไวโอลินนี้ไปใช้ในการแสดงของเขา การแสดงของเขาต้องมาจากแรงบันดาลใจที่เกิดจากหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอเองเป็นนักประพันธ์ที่ต้องการแรงบันดาลใจในการเขียนเช่นกัน เธอจึงเดินทางไปรัสเซีย และกลับมาพบว่าเขาหาแรงบันดาลใจจากหญิงอื่นเมื่อไม่มีเธอ เธอยิงไวโอลินตัวนั้นเสียหาย แล้วจากไป เขาฆ่าตัวตายในที่สุดเพราะสูญเสียแรงบันดาลใจและอ่อนแอเพราะฝิ่น ไวโอลินถูกนำข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองจีนที่เซี่ยงไฮ้โดยคนรับใช้ชาวจีนของเขาที่กลับเมืองจีนและนำไวโอลินตัวนั้นไปขายในร้ายขายของเก่า ไวโอลินถูกขายต่อให้แม่ลูกชาวจีนคู่หนึ่ง ลูกสาวเมื่อเติบโตขึ้นตกอยู่ในช่วงปฏิวัติการปกครองของจีน เครื่องดนตรีตะวันตกจะถูกทำลาย ไวโอลินถูกมอบให้อาจารย์สอนดนตรีผู้เก็บเครื่องดนตรีหลบซ่อนการทำลายของเรดการ์ดจนสิ้นสุดยุคประธานเหมา ในที่สุดรัฐบาลจีนได้มอบคอลเลกชั่นเครื่องดนตรีเหล่านี้กลับมาสู่ประเทศตะวันตก จนเข้าสู่การประมูลในเมืองมอลทรีลออลในแคนาดา ฉากการประมูลเป็นฉากนำเรื่องจากนั้นหนังตัดเรื่องไปมาระหว่างแต่ละช่วงเวลาเดินทางของไวโอลิน ซึ่งตัดภาพได้เรียบรื่นดีมาก แล้วเรื่องมาเฉลยกันตอนจบว่าช่างทำไวโอลินได้นำเลือดของภรรยาผู้เสียชีวิตมาทาสีไวโอลินโดยใช้แปรงที่ทำจากผมของเธอ ชื่อเรื่องภาษาไทยที่ตั้งชื่อว่า ไวโอลินเลือด จึงสื่อเนื้อหาส่วนนี้เข้าไปด้วย