หลังจากที่ทำการเปิดฝาแผ่นหลังพี่เช็คแล้ว ลองดูภาพโดยรวมอีกครั้ง จะสังเกตุเห็นว่าไวโอลินคันนี้ใส่บล็อคมาไม่ครบ ซึ่งโดยปกติไวโอลินจะมีบล็อคอยู่ทั้งหมด 6 ชิ้นด้วยกัน ทำหน้าที่ยึดโครงข้าง (Rib) ให้มีรูปทรงเป็นไวโอลิน เป็นพื่้นที่สำหรับติดแผ่นหน้าและหลัง
นอกจากนั้นตัวใหญ่ที่ด้านบนยังทำหน้าที่เป็นฐานยึดให้กับคอไวโอลิน ตัวใหญ่ด้านล่างจะใช้เจาะรูเพื่อใส่ปุ่มท้าย (End button) อีก4 ชิ้นจะอยู่ที่บริเวณโค้งตัว C ( C-bout ) ข้างละ 2 ชิ้น
บล็อคส่วนที่หายไปอยู่บริเวณโค้งตัว C ใส่มาแค่ชิ้นเดียว ตามที่เห็นในภาพ แต่ก็ยังคงสภาพมาได้กว่า 50 ปี ข้อเสียคือโครงข้างมีโอกาสหลุดได้ง่ายเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ข้อดีคือทำให้ไวโอลินเบาขึ้น
เห็นภาพใกล้ก็ดูไม่ค่อยเหมือนบล็อคเท่าไหร่ลักษณะเหมือนเอาไม้มาช่วยค้ำไว้มากกว่า เบสบาร์เป็นแบบบิวท์อิน อันนี้ผมเรื่ยกเอง คือเป็นชิ้นส่วนเดียวกับไม้แผ่นหน้าใช้สิ่วขุดส่วนอื่นออกไปเหลือไว้เฉพาะที่เป็นเบสบาร์ ด้านในแผ่นหน้าไม่เรียบร้อยใช้สิ่วขุดไว้หยาบๆ ความหนาบางไม่สมำเสมอสูงๆ ต่ำๆการแก้ไขพี่เช็คครั้งนี้ใช้หลักการที่ว่าจะคงรักษาลักษณะพื้นฐานตามที่ผู้สร้างเดิมเคยทำไว้ แผ่นหลังแยกออกเป็น 2 ส่วน สิ่งแรกที่ทำจึงต้องต่อกันให้เป็นแผ่นเดียวกันก่อน
จากนั้นก็ขูดวานิชเก่าออกให้หมด และเอาเนื่้อไม้บางส่วนออก สิ่งที่ชอบคือเขาฝัง purfling ไว้ที่ขอบด้วย พูดถึง purfling มีไว้เพื่อทำให้สวยงามขึ้น แต่หน้าที่หลักเป็นเหมือนกำแพงกั้นไม่ให้เกิดความเสียหายเวลากระทบกระแทกที่ขอบไม่ให้ลุกลามเข้าไปด้านใน
แผ่นหลังด้านในทำมาเรียบดี (ต้องเรียบเพราะมันสามารถมองเห็นจากช่องเสียงได้ ไม่งั้นขายไม่ออกแน่) แต่ยังหนาเกินไปจึงต้องปรับให้บางลง
เสร็จเรียบร้อย พร้อมการปรับความหนาบางให้ถูกต้อง ตัวสีฟ้าเป็นเครื่องวัดความหนาครับ จำเป็นต้องมีเป็นอย่างมาก
เบสบาร์แบบบิวท์อินของแผ่นหน้า อย่างไงก็ขอเอาออกแล้วค่อยสร้างใหม่
ปุ่มคอที่มีปัญหาควรเอาส่วนที่อุดโป๊วออก แล้วค่อยเสริมไม้จริงเข้าไป จะทำให้มีกำลังในการยึดจับที่ดีกว่า
ขูดขัดคราบกาว และปรับให้ผิวหน้าเรียบเตรียมพร้อมสำหรับการปิดแผ่นหลังเข้าที่
ปิดแผ่นหลังเข้าที่ โดยใช้อุปกรณ์ที่ทำขึ้นเอง แฮะ ๆ มันคล้ายอะไรนะ
คราวนี้มาจัดการกับแผ่นหน้า ทำการเปิดออกมาก่อน สำหรับแผ่นหน้านี้เป็นไม้สนสปรูซ 2 ชิ้นต่อกัน เส้นละเอียดไล่ไปตั้งแต่เส้นถี่เล็กไปจนขนาดกลางตรง สวยงามดี
ลองวัดความหนาดูก่อน ประมาณเกือบ 7 ม.ม. ผมว่ามันหนาเกินไปตัวเลขควรจะอยู่ประมาณ 3 ม.ม. แล้วไล่ไปที่ส่วนขอบประมาณ 2-2.5 ม.ม. จะทำให้ไวโอลินมีคุณภาพเสียงที่ดี
ใช้กบตัวเล็กไสไม้ให้เรียบและบางลงตามค่าที่ต้องการ เน้นการไสที่ภายในเพื่อไม่ให้เสียทรงด้านนอก
จากนั้นก็มาจัดการด้านนอกแบบเดียวกับที่ทำแผ่นหลัง จนมีสภาพอย่างที่เห็น
จากนั้นก็ถึงช่วงสำคัญก็คือการทำเบสบาร์ขึ้นใหม่ เลือกไม้ วัดระยะจัดแนวของการติดตั้ง ขั้นตอนนี้ยากเหมือนกันเพราะต้องทำให้เบสบาร์ติดเรียบเนียนเป็นชิ้นเดียวกับแผ่นหน้า
ไสปรับให้ได้รูปทรงและสัดส่วนที่ถูกต้อง ค่อยๆ ไสไปเรื่อย ๆ คอยเช็คความสูงความหนาตลอด
สลักหลังไว้ซักหน่อย บันทึกเป็นประวัติ
สลักไว้ที่แผ่นหลังด้วย ส่วนนี้จะสามารถมองเห็นได้จากช่องเสียงด้านหน้า
ปุ่มคอที่ค้างไว้ในตอนแรก จะเสริมไม้เมเปิลลงไป
ฝังเดีอยไม้ลงไป เพื่อให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นและเข้าไปแทนที่รูจากรอยตะปู
ประกอบแผ่นหน้าเข้าที่ให้เรียบร้อย
ประกอบส่วนต่างๆ เข้าไป แล้วก็เสร็จเรียบร้อยออกมา
เยี่ยม...ได้ความรู้เพิ่มมากเลยครับ
ตอบลบ