26 มีนาคม 2555

ลูกแปลก ๒ ( Alternative2)


เป็นไวโอลินในรุ่นที่ 2 ต่อเนื่องมาจากลูกแปลก  โดยตัวนี้ได้เปลี่ยนแปลงขนาดช่องเสียงที่อยู่บริเวณด้านบนให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น  ใช้ช่องเสียงข้างละ 1 ช่อง  โครงสร้างภายในยังคงเป็นแบบไวโอลินดั้งเดิมทั่วไป


เปรียบเทียบช่องเสียงกับลูกแปลก ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า แต่จะมีช่องเสียงทรงกลมเล็กอยู่ด้านบนอีกช่อง  ปัจจุบันในตระกูลของลูกแปลกสร้างมาถึงตัวที่ 4 แล้ว ซึ่งแต่ละตัวยังคงความเป็นลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว  ไม่มีตัวไหนซ้ำกันเลย


ไม้ที่ใช้ทำยังคงเป็นไม้แบบฉบับมาตรฐานทั่วไป ด้านหน้าเป็นไม้สน แผ่นหลังเป็นไม้เมเปิล 2 ชิ้นต่อกัน  


ช่องเสียงด้านบนขนาดใหญ่ขึ้น รูปทรงแบบเดียวกันกับลูกแปลก  แต่ตัดช่องเสียงกลมเล็กด้านบนออก ซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอ


ส่วนหัวด้านหลังได้เพิ่มรายละเอียดโดยสลักชื่อผู้ทำสร้างไว้ ซึ่งเป็นการแกะสลักแบบนูนสูง


ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ด้วยการฝัง pulfling เว้ารูปหัวใจด้านบน และฝังหมุดที่ปุ่มคอ


Fitting เลือกใช้ไม้เนื้อแข็งคุณภาพสูง ที่พร้อมจะฝ่าฟันกาลเวลาไปอีกยาวนาน  และออยวานิชสีน้ำตาลที่ยังคงความคลาสสิคและไม่บั่นทอนคุณภาพเสียงลง



ภายใต้ช่องเสียงมีฉลากจากไม้เมเปิล ลสักชื่อด้วยลายมือของผู้สร้างไว้  พร้อมทั้งระบุช่วงเวลาไว้ว่า Jan. 2012 และทำในประเทศไทย Thailand


ช่องเสียงอีกด้านสลักเป็นภาษาไทย ไว้บนแผ่นหลัง ระบุช่วงเวลาและบ้านเกิดของผู้สร้างไว้



   สามารถดูภาพชัด ๆ ได้ที่ลิงค์นี้ครับ    ( Alternative Violin )

21 มีนาคม 2555

Violin glue clamp


เครื่องมืออันหนึ่งที่จำเป็นสำหรับงานสร้างซ่อมไวโอลิน  Luthier ต้องมีคู่กายไว้  วันนี้อยากจะพูดถึงเจ้าเครื่องมือที่ว่า  Violin glue clamp  แปลเป็นไทยผมยังหรือศัพท์ที่ลงตัวไม่ได้  ทำหน้าที่ในขั้นตอนของการติดแผ่นหน้าและหลังของไวโอลินให้เข้ากับตัวโครง Rib


หลักการทำงานไม่ได้ยุ่งยากอะไรคือด้านหนึ่งจะเป็นเกลียวเวลาใช้งานก็แค่ขัดเกลียวลงไปบีบจับไว้ให้แน่นพอประมาณ แล้วรอเวลาให้กาวแห้งพอกาวแห้งได้ที่ก็ถอดเป็นอันจบหน้าที่เก็บไว้ใช้กับตัวอื่นๆ ต่อไป  ฟังดูก็ช่างเรียบง่ายแต่ก็เป็นหน้าที่ซึ่งสำคัญและยิ่งใหญ่  ไวโอลินจะเป็นตัวตนขึ้นมาไม่ได้ถ้าขาดสิ่งนี้


 รูปทรงลักษณะอาจแตกต่างกันไปบ้าง  แต่การใช้งานก็เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน  อย่างที่เห็นในรูปก็เป็นแบบที่ผมทำขึ้นมาใช้เองอาจจะไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่  เพราะทำไว้ใช้ตั้งแต่หัดทำไวโอลินตัวแรก ตอนหลังว่าจะทำแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้นก็มาเจอเจ้าชุดข้างบนเสียก่อนเห็นว่ามันสวยดีราคาไม่แรงมากเลยจัดมา 1 ชุด

ส่วนประกอบไม่มีอะไรมาก แค่น็อตหางปลายาวประมาณ 10 ซ.ม. กับไม้กลมๆ ตัดเป็นท่อนเจาะรูตรงกลางเอาน็อตใส่เข้าไปก็ได้แล้ว ไม้ด้านติดหัวน็อตผมหยอดกาวไว้ให้ยึดแน่นไว้  ด้านที่ติตกับหางปลาปล่อยอิสระเลื่อนขึ้นลงได้  กระซิบนิดหนึ่งไม้ที่ผมใช้เป็นไม้ธงเขาทิ้งแล้ว.....อุตสาห์ไปเก็บมาอีก


ลองเปรียบเทียบกันให้เห็นชัดๆ  แม้จะแตกต่างแต่ก็เป้าหมายเดียวกัน

10 มีนาคม 2555

I Am Number Five


เป็นอีกครั้งที่ผมได้กลับมาที่บ้าน  หลังจากที่ห่างเหินไปนานเหตุเพราะอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปีก่อน  อะไรหลายอย่างก็ดูรวนไปหมด  กว่าจะกลับมาเข้าที่ได้ก็ใช้เวลาไปหลายเดือน


การกลับบ้านคราวนี้ ผมได้รับของชิ้นหนึ่งเป็นพัสดุที่ส่งมาจากลำปาง  พอเห็นกล่องก็รู้ว่าข้างในเป็นอะไร แต่พยายามนึกว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไง.....กับนึกไม่ออกแม้ระยะเวลาจะผ่านมาแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้น  หน้ากล่องเป็นลายมือของคุณ  ลุงน้ำชา กัลยาณมิตรซึ่งผมไม่เคยได้พบหน้าจริงๆ เลยซักครั้ง  ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งทำให้ผลงานของผมเดินหน้าพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ได้  


แกะออกมาก็เป็นกล่องไม้อัดซึ่งผมทำไว้เองเป็นครั้งแรกเหมือนกัน  ซึ่งขนาดพอดีกับตัวไวโอลินไม่ได้เผื่อพื้นที่ไว้ใส่อุปกรณ์อื่น  ดังนั้นจะใสคันชักไม่ได้ เพราะมันสั้นเกินไป


ไวโอลินตัวนี้ผมทำไว้เป็นล็อตแรกมีด้วยกัน 6 ตัว  ตัวนี้คือตัวที่ 5 ซึ่งในล็อตแรกนี้จะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือยังค่อยสวย สัดส่วนหลายๆ อย่างดูแปลกๆ ขัดหูขัดไปเสียหมด อาทิเช่น หัวโต คอหนา องศาต่ำ  ขอบกว้างเกินไป  ปรับแต่งไม่ดี  เป็นต้น




แต่ก็ใช่ว่ามันจะแย่ไปเสียหมด  ที่ดีก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือแผ่นหน้าและหลังที่ควบคุมความบางมาได้ดี  แต่ด้วยภาพรวมของสัดส่วนที่ไม่ถูกต้องทำให้มันดูไม่สวย  เวลาจับขึ้นมาเล่นจะไม่ค่อยถนัดมือดูเทอะทะ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่อยากเล่นขึ้นได้



ช่วงคอที่กว้างเกินไป องศาคอก็เลยต่ำ  หย่องที่ตัดเองไม่สวยหนาเทอะทะ  ส่วนของฟิงเกอร์บอร์ดทำจากไม้ชิงชันเป็นไม้ที่ดีครับ  


ส่วนหัวที่หนาจะใหญ่เกินไป ลูกบิดเห็นลุงน้ำชาบอกว่าได้บิดจนแตกไปเพราะแน่นมาก ก็น่าจะมาจากการปรับแต่งไม่ดี ซึ่งผมก็จำลูกบิดเดิมไม่ได้


ส่วนคอที่หนาเกินไป ซึ่งปกติควรจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 18 ม.ม. ในส่วนปลาย  และไม่เกิน 20 ม.ม. ในส่วนโคน


ผมเองลังเลใจจากที่แรกซึ่งตั้งใจว่าจะไม่แก้ไขอะไร  ปล่อยให้มันเป็นอย่างที่เคยเป็นไว้ดูว่าครั้งหนึ่งกว่าจะได้เป็นไวโอลินในฝัน  ต้องผ่านความผิดพลาดมาไม่รู้อีกตัว................แต่มีหลายเสียงทัดทานผมมาให้แก้ไขเถอะเสียดาย  แก้ไขให้ดีแล้วจะได้เอามาใช้ได้  หนึ่งในนั้นเป็นแม่ของผมเอง


นั่นเป็นเรื่องราวของตัวที่ 5  และ5ใน6 ตัวแรกกลับมาหาผมเกือบหมดเหลืออยู่อีกเพียงตัวเดียวเท่านั้น  ผมทำผิดๆถูกๆมาตลอด  อย่างหนึ่งอาจเพราะหาคนที่จะมาแนะนำไม่ได้  แต่การทำผิดพลาดก็มีประโยชน์เหมือนกัน  ทำให้เราได้ทักษะการแก้ไขถ้าไม่ท้อถอดใจไปเสียก่อน  ผมว่าลุงน้ำชาเองก็คงจะรู้สึกเช่นนั้นแต่ก็ไม่กล้าที่จะติกลัวทำให้ผมเสียกำลังใจ ก็เลยส่ง ไวโอลินเก่าอายุ 55 ปี  มาให้ผมได้ศึกษา และเป็นจุดเปลี่ยนมาจนถึงวันนี้


ในกล่องยังมีหนังสือเกี่ยวกับงานไม้ วานิช และฮาร์โมนิก้าของ Huang รุ่น Silvertone  Deluxe  คีย์ Bb  ขอบพระคุณลุงน้ำชาเป็นอย่างสูงครับ