25 ธันวาคม 2554

ไวโอลินเก่าอายุ 55 ปี

ผมอยากจะขอบันทึกเรื่องราวนี้เป็นเรื่องแรก สำหรับการเริ่มต้นหัดทำบล็อคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเผยแพร่ความรู้ ผลงาน เกี่ยวกับไวโอลินในแบบฉบับของผู้สร้างเครื่องดนตรี (Luthier) ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีใครได้เห็นมากนัก แต่คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์สำหรับผู้ที่รักชื่นชอบไวโอลิน


สำหรับไวโอลินเก่าตัวนี้ (จริงๆ แล้วต้องเรียกเป็น "คัน") ผมได้รับเมื่อช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมาเป็นพัสดุที่ส่งจากลำปาง ผมรู้ว่าภายในคืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นมาก เป็นไวโอลินเก่าผลิตในประเทศ Czechoslovakia อายุ 55 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500) ซึ่งผมได้รับความเมตตาจากลุงน้ำชา มอบให้ไว้ศึกษาและฝึกเล่น มันเป็นอะไรที่มีคุณค่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างผลงานของผมในเวลาถัดมา







ผมได้ใส่สายและลองทดสอบเสียงเพื่อให้ทราบว่าคุณภาพของเสียงเป็นอย่างไรก่อนที่จะทำการแก้ไขปรับปรุง สภาพโดยรวมก็ถือว่าเป็นไปตามอายุ เท่าที่ทราบจากลุงน้ำชาก่อนหน้ามีสภาพที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ต้องมาประกอบเองจึงได้มีลักษณะอย่างที่เห็น ซึ่งแสดงว่ากาวเดิมเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ อาการที่เห็นคือคอหลุด แผ่นหน้า-หลังเปิดหลุดออกมา รอยต่อบริเวณด้านข้างปริหลุดต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นอาการของกาวเสื่อมที้งสิ้น รองคางทรงสวยดีแต่เป็นพลาสติก ฟิงเกอร์บอร์ด เป็นไม้ย้อมสีดำซึ่งหลุดลอกตามการใช้งาน ถ้าเป็นไม้สีดำตามธรรมชาติจะเป็น ebony บ้านเราเรียกไม้มะเกลือ แก่นไม้เป็นสีดำ เป็นไม้เนื้อแข็ง(แกร่ง) มีน้ำหนักมากถือเป็นไม้คุณภาพสูงราคาแพง พอพูดถึงไม้ทำให้อดนึกถึงพวกลักลอบตัดไม้พยุงในบ้านเราแล้วส่งไปขายต่างประเทศเสียดายมาก พวกนายทุนผู้มีอิทธิพลกอบโกยหวังแต่ผลประโยชน์ของตน ไม่รู้ต่อไปลูกหลานจะเหลืออะไร เห็นมูลค่าที่จับได้เป็นสิบล้าน ส่งไปให้เขาแปรรูปแล้วส่งกลับมามูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า 100 เท่า โถไม่อยากคิดเลย

กลับมาเรื่องไวโอลินดีกว่าส่วนของหางปลาเป็นไม้ย้อมสีเช่นกัน แผ่นหน้าหลังสวยดีครับผมชอบ (ความสวยขึ้นกับคนมอง) ลูกบิดสีน้ำตาล เสี้ยนค่อนข้างหยาบแต่แข็งดีครับถือว่าใช้ได้ ป้ายภายในระบุว่าเป็นแบบ strad ปี 1713 (เป็นการ copy)
มีจุดที่ผมสงสัยมากอยู่แห่งหนึ่งคือบริเวณปุ่มคอมีอะไรที่แปลก ๆ อยู่ ซึ่งมาเข้าใจในภายหลังตอนที่ได้เปิดออกมาดูผมจะมาเฉลยตอนหน้า พูดถึงการวานิช ผมจะไม่ค่อยชอบแบบนี้เป็นการเคลือบหนาและแข็ง มันลดคุณภาพเสียงลงแต่ข้อดีคือมันช่วยปกปิดร่องรอยจากการทำได้ดี

4 ความคิดเห็น:

  1. โอ้ จริง ๆ ด้วยครับ ผมสังเกตไวโอลินเสียงดี ๆ จะเห็น
    ร่อง ๆ ของไม้ชัดเจนมาก คิดว่าที่เห็นชัดเพราะว่าวานิชเขาไม่หนา...
    ...ได้มีโอกาสเรียนรู้
    ในสิ่งที่หาได้ค่อนข้างยาก แบบนี้ ก็นับว่าเป็นโชคดี และ
    เป็นโอกาสดีครับ ขอบคุณนะครับ
    สวัสดีปีใหม่นี้นะครับ ขอให้มีความสุขมาก ๆ นะครับ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีปีใหม่ครับคุณเต้ย ขอให้มีความสุขเช่นกัน ติดตามต่อไปนะครับแล้วจะเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

    ตอบลบ
  3. -เรื่องที่นำเสนอน่าสนใจมากสำหรับผู้สนใจไวโอลิน อยากให้คุณไพสิทธิ์นำเสนอไปเรื่อยๆครับ เป็นเรื่องที่หาอ่านยาก
    -๘ ม.ค.๕๕ ที่จะพบกัน นำตัวนี้มาด้วย ผมอยากลองฟังเสียง
    มานะ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณครับคุณหมอ ผมตั้งใจจะเขียนในหลาย ๆ ส่วน ซึ่งรวมทั้งการซ่อม การสร้าง เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ทำไวโอลินและอื่นๆ ซึ่งจะทะยอยเผยแพร่ไปเรื่อยๆ ครับ

    ผมจะนำพี่เช็คไปด้วยครับ ตามที่นัดไว้

    ตอบลบ