30 มิถุนายน 2555

โครงสร้างภายใน

Lining


หลังจากที่เราได้ทำโครงข้าง Rib ประกอบเข้ากับโมลเรียบร้อยแล้ว  ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการใส่ lining ซึ่งก็คือการเสริมไม้ชิ้นเล็กๆ บางๆ ตลอดแนวด้านใน อันนี้เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับโครงด้านข้าง  รักษารูปทรงไม่บิดเบี้ยว แล้วช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวสำหรับแผ่นหน้า หรือแผ่นหลังตอนติดกาว

การใส่เส้น lining จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องทำบล็อคให้ด้านหนึ่งเรียบ ส่วนอีกด้านจะสูงกว่า  คือเหลือพื้นที่ไว้สำหรับติด lining นั่นเอง  อธิบายแล้วยิ่งงงหรือเปล่าก็ไม่รู้ .............


หลังจากที่ได้โครงข้างรูปทรงออกมาแล้ว  ขั้นต่อไปเป็นการสร้างแผ่นหน้าหรือหลัง  อย่างในภาพผมเลือกที่จะทำแผ่นหน้าก่อน  ซึ่งหลังจากที่ทำแผ่นหน้าเสร็จก็จะนำมาติดตั้งไปบนโครงข้างที่เตรียมไว้แล้ว (พูดง่ายๆ ก็คือทากาวแล้วปะลงไปนั่นเอง)


กระบวนการไสทำแผ่นหน้า ต้องใช้เวลาพอสมควร  กว่าจะได้มาเสียเหงื่อไปหลายหยดทีเดียว


แผ่นหน้าหรือ sound board จะนำไปติดตั้งกับโครงข้างรอจนแห้งสนิทแล้วกลับด้าน  จากนั้นทำการถอดโมลออกก็เป็นอันหมดหน้าที่ของโมล


โมลที่ถูกถอดออกมาก็เก็บไว้ใช้ทำต่อตัวต่อไปได้  จนกว่ามันจะหมดสภาพไป  ตัวนี้เป็นสภาพภายในของไวโอลิน ลูกแปลก ซึ่งบริเวณด้านในจะติดตั้งแท่งไม้อีกชิ้นไว้  ทอดแนวตามสาย G  แท่งไม้ชิ้นนี้เรียกว่า เบสบาร์ (bass bar)

23 มิถุนายน 2555

เรื่องของภายใน

Mold



ในการสร้างไวโอลินสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องมีการคือ โมล (mold) หรือจะเรียกว่าแบบโครง ทำหน้าที่เพื่อเป็นส่วนที่รองรับ Rib ให้มีรูปทรงตามที่ต้องการ



การจะทำไวโอลินไม่ว่าแบบใด  ต้องเริ่มต้นจากโมลก่อน  จะเลือกสันฐานแบบช่างสกุลใดสุดแล้วแต่ความชอบ  หรือถ้ามีความคิดสร้างสรรจะสร้างในแบบของตนเองก็ได้ไม่ผิดกติกา  แต่ขอให้เข้าใจในเรื่องของสัดส่วนเป็นใช้ได้


โมลทำจากไม้ ไม้อัดหรือเป็นวัสดุอื่นก็ได้มีความหนาประมาณ 15 ม.ม. ถ้าเป็นนิ้วก็ 5/8 นิ้ว  มีช่องด้านบนล่าง สำหรับไว้ติดตั้งบล็อค ซึ่งปัจจุบันจะใช้เป็นไม้สปรูซ เป็นไม้เนื้ออ่อนนำหนักเบา แบบเดียวกับที่ใช้ทำแผ่นหน้า (Sound board)

ลักษณะของไม้สปรูซ  ที่จะนำมาทำบล็อคส่วนต่าง ๆ ตัดให้มีความสูง 3  ซ.ม. 

บล็อคอีก 4 ตัว จะติดตั้งไว้ในตำแหน่งมุมของช่วงโค้งตัวซี (C-bout ) ซึ่งจะมีขนาดที่เล็กกว่า  บล็อคแต่ลำตัวจะทำหน้าที่เป็นตัวยึดจับ Rib แผ่นไม้เมเปิลบางๆ


บล็อคจะถูกตัดแต่งให้ได้รูปทรงสันฐานที่ต้องการ และติดตั้งไว้บนโมลทั้ง  6 จุด หน้าที่ของบล็อคทั้ง 6 นอกจากทำหน้าที่ยึดประสาน Rib ให้เป็นไปตามรูปทรงแล้ว  ด้านบนยังเป็นส่วนที่ยึดแผ่นหน้า-หลังของไวโอลินด้วย


บล็อคที่ติดตั้งบนโมลเรียบร้อยแล้ว  ด้านหนึ่่งจะเรียบเสมอกับแผ่นโมล อีกด้านบล็อคจะสูงกว่า  แต่สาเหตุที่ต้องสูงกว่า คงได้พูดคุยในต่อไป

16 มิถุนายน 2555

ผ่าดู....น้องลำปาง


ช่วงสัปดาห์ก่อนคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ประจำเกิดปัญหาขึ้นโดยไม่คาดหมาย  เป็น lap top ที่ใช้งานมาได้ซัก 2 ปี  ไม่ได้เคยระแวงใดๆ ว่าเครื่องจะเกิดอาการหรือมีปัญหาถือว่ายังใหม่อยู่  อาการที่ว่าคือมันเปิดไม่ได้  เครื่องจะค้างที่อยู่หน้าจอมีโลโก้ของยี่ห้อปรากฏอยู่แค่นั้น  กดปุ่มอะไรก็ไม่ตอบสนอง  ทั้งปุ่ม F2   F10  Del  พยายามจะเข้า bios ก็ไม่ได้  ปิดเปิดอยู่หลายรอบด้วยการกดปุ่ม power ค้างไว้ 5 วินาที เป็นการบังคับปิด ( เพราะใช้ Ctrl+Alt+Del ไม่ได้ผล)

สมองพยายามคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร  Harddisk  Mainboard หรือจะเป็นที่ OS  ภาวนาว่าขออย่าให้เป็นที่ Hardware เลย ไม่อยากจะเสียตังค์  อย่างหนึ่งคือไม่ได้มีสัญญานเตือนว่ามันจะมีปัญหาเพราะยังใช้งานได้ปกติมาก  มานึกได้ว่ามีแผ่น Recovery อยู่เขาบอกว่าไว้ใช้ตอนเครื่องมีปัญหา  แต่ก็ไม่ได้บอกว่าปัญหานั้นคืออะไร  ตัดสินใจว่าของลองดูแล้วกัน

สิ่งที่ต้องทำคือบูตเครื่องด้วยแผ่น Recovery นี้   อันดับแรกต้องเข้า bios ให้ได้ก่อน  เปิดเครื่องแล้วลองกดปุ่ม F2 ทิ้งไว้  ผ่านไปกว่า 10 นาทีก็ไม่มีอะไรปรากฏขึ้น ยังรอต่อไปถ้าเกินครึ่งชั่วโมงจะหาวิธีอื่น  เกือบ 20 นาที สิ่งที่รอคอยปรากฏขึ้น จากนั้นตรวจสอบดู harddisk เครื่องยังมองเห็นอยู่ ในใจคิดว่า window คงมีปัญหา  จัดการตั้งค่าให้บูตจาก Optical drive ( dvd drive) แล้วให้แผ่น Recovery ทั้ง 6 แผ่นทำงานแก้ปัญหา  โดยที่ไม่รู้ว่ามันมีกระบวนการทำงานอย่างไร

ที่สุดเครื่องมันกลับมาพร้อมหน้าตาใหม่ และมันทำให้รู้ว่า การ Recovery ก็คือการ format แล้วลง window ใหม่นั่นเอง  ผมได้คอมกลับมาใช้งานได้  แต่สิ่งที่สูญเสียไปก็เป็นข้อมูล รูปภาพ อื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่นึกต่อไปคือการกู้ข้อมูลกลับมา ผมใช้โปรแกรม  pandora recovery  เป็นโปรแกรมดี ที่สำคัญฟรี  ผมได้หลายอย่างกลับมา  รวมถึงรูปการแก้ไขน้องลำปางด้วย  ที่อยากจะลงภาพให้ดูตั้งแต่คราวก่อน

สิ่งที่อยากแก้ไข คือสัดส่วนช่วงคอ หัว ช่องระหว่างแผ่นหน้ากับฟิงเกอร์บอร์ด
เปิดแผ่นหลังออก ถอดคอ


ด้านในของน้องลำปาง

แยกชิ้นส่วนน้องลำปางออกก่อน แก้ไข แล้วค่อยประกอบใหม่นะ


การถอดคอออก จำเป็นต้องเอาบล็อคบนออกด้วย  แล้วทำบล็อคตัวใหม่ใส่ลงไปแทน  อันนีัเป็นการแก้ไขช่องว่างระหว่างคอให้เล็กลง

แก้ไขส่วนหัว และคอให้เพรียวเรียวกระชับยิ่งขึ้น


เมื่อทุกอย่างได้สัดส่วนเข้าที่  ก็จัดการประกอบน้องลำปางกลับมาอีกครั้ง


7 มิถุนายน 2555

น้องลำปาง


"น้องลำปาง"  ผมตั้งชื่อให้กับไวโอลินตัวนี้  หลังจากที่มันเคยไปอยู่ที่ลำปางมาระยะหนึ่งก็หลายเดือนอยู่เหมือนกัน  ก่อนที่มัีนเดินทางกลับมาหาผมอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  น้องลำปางคือไวโอลินที่เคยอยู่กับลุงน้ำชามาก่อน

น้องลำปาง ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ประมาณกลางปี 2553 น่าจะเป็นตัวที่ 5 จะว่าไปก็ถือว่าในช่วงนั้นผมยังเรียนรู้ถูกผิด หาประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง  ก็เลยยังมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นสัดส่วนที่ยังไม่สวยงามนัก  แต่พอมองย้อนกลับไปก็ยังรู้สึกว่าน้องลำปางยังดีกว่าพี่ๆ 4 ตัวก่อนหน้า

นึกถึงตอนนั้นก็ยังรู้สึุกขำตัวเอง  ที่ส่งน้องลำปางไปอยู่กับลุงน้ำชาโดยคิดว่านั่นแหละคือสิ่งที่เราทำออกมาดีแล้ว  ถ้าเป็นตอนนี้ผมคงไม่กล้าทำอย่างนั้นแน่นอน   หลังจากน้องลำปางกลับมาผมลังเลใจอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายก็ตัดสินใจแก้ไขปัญหาให้กับเจ้าน้องลำปาง  ให้กลับมามีสัดส่วนที่ถูกต้องและปรับแต่งให้พอที่จะนำออกมาเล่นได้ดีกว่าแขวนเอาไว้เฉยๆ

การหัดทำไวโอลินของผมในช่วงแรกๆ ก็ต้องมีครูด้วยเช่นกัน  โดยหาดูจากเน็ต youtube เป็นส่วนใหญ่และก็มีให้ดูเยอะมาก  ซึ่งนั่นคือข้อดีของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน (ถ้าใช้ไปในทางทีี่่ถูก) แค่พิมพ์ข้อความสั้นๆ ก็จะมีอะไรให้เราเลือกดูมากมาย how to make violin ส่วนใหญ่จะเป็นคลิปสั้นๆ ไม่กี่นาที ก็สาธิตให้เราดูตั้งแต่ต้นจะจบออกมาเป็นไวโอลินแล้ว เห็นเขาทำแล้วเหมือนง่าย  แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  ยิ่งหากใช้เครื่องมือแบบบ้านๆ ด้วยแล้วก็จะยากขึ้นไปอีก

มีอยู่ท่านหนึ่งผมถือว่าเป็นครูหรือเป็นต้นแบบในการทำของผมมากที่สุด ท่านชื่อว่า Carl A. Mills  ต้องถือว่าเป็นคลิปที่เป็นเหมือนบทเรียนมากที่สุด แบ่งออกเป็นบท เป็นหมวดหมู่ มีรายละเอียดพร้อมคำอธิบายอย่างชัดเจน มีข้อเสียอันเดียวสำหรับผมคือผมฟังท่านไม่ค่อยจะรู้เรื่องนักเพราะพูดคนละภาษากับผมเท่านั้นเอง  วันนี้ผมก็คิดถึงครูคนนี้อยากจะดูอีกซักครั้งก็ไม่รู้ว่าท่านไปไหนเสียแล้วหาไม่เจอ  สงสัยคงเบื่อสอนลูกศิษย์ที่ฟังไม่รู้เรื่องอย่างผม