26 กันยายน 2557

ไวโอลิน.......ตัวอ้วน

Jakobus Stainer


ต้องบอกว่าเขาเป็นไวโอลินตัวที่อ้วนที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นที่เดียว  มันทำให้ผมนึกย้อนกลับไปก่อนที่จะมาถึงยุคไวโอลินทรงยอดนิยมอย่าง Strad หรือ Guarneri  จะเข้ามามีอิทธิพล  ช่างฝีมือในยุคก่อนจะพยายามคิดสร้างผลงานที่สะท้อนเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา  มีทั้งในเรื่องของรูปทรง ช่องเสียง รายละเอียดในส่วนหัว ซึ่งก็มีมากมายหลายแบบ และอย่างหนึ่งของไวโอลินในยุคนั้นจะมีลักษณะค่อนไปทางอ้วน ปล่องค่อนข้างเยอะ    จนมาถึงในยุคของ Antonio Stradivari  เขาไปปรับเปลี่ยนรูปทรงของไวโอลินให้มีรูปทรงที่งดงาม  ลดความปล่องของไวโอลินลงมา  ทรงดูเพรียวสวยงามช่องเสียงอ่อนช้อย  เรียกได้ว่าเป็นที่ประทับใจของผู้คน  ที่สำคัญคือให้น้ำเสียงที่ดีขึ้น  และเป็นผลพวงที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน





แล้วทำไมรูปแบบของ Strad จึงให้ผลลัพท์ที่ดีกว่า ?

สามารถอธิบายได้อย่างนี้ว่า  อย่างแรกเลยก็คือว่า ไวโอลินที่ปล่องน้อยทำได้ง่ายกว่าแบบอ้วน อย่างแผ่นหน้าของ Strad ใช้ไม้หนา(ปล่อง)  13 ม.ม ในขณะแบบเดิมต้องใช้ความหนาถึง 15-18 ม.ม. ซึ่งในยุคก่อนเขาใช้เครื่องมือแบบบ้านๆ ไม่ได้มีเครื่องจักรทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน การใช้สิ่วขุด กบไสให้ได้รูปทรงออกมาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  ยิ่งแบบที่ปล่องๆ ด้วยแล้ว ผมบอกได้เลยว่าเหนื่อยกว่ากันเยอะครับ  มิติในทางลึกมันดูลึกล้ำกว่า การปรับความหนาบางก็ทำได้ยากกว่ามาก 

ประการต่อมาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ หลังจากที่เสร็จออกมาเป็นไวโอลินแล้ว การปรับตั้ง (set up) แบบของ strad สามารถทำได้ง่ายกว่า เนียนกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของซาวด์โพส หย่อง หรืออื่นๆ ทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นาน  ผลที่ได้คือทรงสวย เพรียว แล้วเสียงก็ออกมาดี





ไม่แปลกใจว่าทำไมแบบ Strad เป็นที่นิยม.......

ก็คนเล่นชอบเข้าตากรรมการ เสียงดี ทรงก็สวย  ที่สำคัญคือช่างทำไวโอลินก็ชอบด้วยเหมือนกัน ทำง่ายปรับง่าย เหลือไม้เยอะ หมายถึงว่า ถ้าเป็นแบบเดิมไม้ต้นหนึ่งอาจทำได้ 8 ตัว แต่ถ้าแบบ strad ก็อาจจะทำได้ถึง 10 ตัว ลดต้นทุนได้อีก  ต้องเรียกว่าเป็นความพอดีที่ลงตัว  ถูกใจผู้ซื้อ และถูกใจผู้สร้าง  




มาดูไวโอลินคันนึ้ดีกว่า  เป็นไวโอลินที่สร้างขึ้นมาในแบบยุคก่อน  เขาดูอ้วน..ปล่องมาก สูงชันตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าเป็นภูเขาก็ต้องนึกถึงภูกระดึงเป็นภูเขายอดตัดแบบนั้น  วานิชมาในโทนสีเข้มดำ เฉดน้ำตาล  แผ่นหลังเป็นไม้เมเปิลชิ้นเดียว  

ปัญหาของเขาเป็นผลสืบเนื่องจากความปล่องชันนี่แหละ  ส่วนคอ สะพานนิ้วเลยดูเหมือนจะเฉียดจะไปโดนแผ่นหน้า  และส่วนของหางปลา ตัวปรับละเอียดแทบจะทำงานไม่ได้เลย เพราะตัวปรับละเอียดไปเบียดชิดแผ่นหน้าเช่นกัน แต่ถ้าไปดูในส่วนของหย่องแล้วก็ดูปกติไม่น่ามีปัญหาอะไร.....แต่มันเป็นปัญหาเมื่อมาอยู่กับไวโอลินคันนี้









ด้านใน  ไวโอลินคันนี้ไม่ใช่บล็อคเต็ม เบสบาร์เป็นแบบบิวท์อิน (เป็นชิ้นเดียวกับไม้สปรูซแผ่นหน้า)  แผ่นหน้าเป็นไม้ 2 ชิ้น แนวกลางรอยต่อเริ่มเห็นรอยแยก คิดว่าน่าจะเก็บไว้นานแล้ว เพราะมีรูเหมือนโดยแมลงเจาะไชอยู่หลายรู ในส่วนคอเห็นมีคราบกาวซึ่งดูแล้วเป็นกาวสมัยใหม่ พลังช้าง  ก็ทำเอาหนักใจพอสมควรเลยทีเดียว





ซ่อมสร้างกันใหม่


ทำบล็อคตัวบนใหม่เลยดีกว่า



คราบกาวพลังช้าง


สร้างบล็อคบนตัวใหม่


ปะเสริมกาว อุดรูทั้งหมดเลย


ปะจัดเต็มเลย
สร้างฐานคอ และปรับองศาให้ใหม่

บล็อคไม่เต็ม






ปุ่มคอล้ำออก จากการปรับองศาให้สูงขึ้น


ปรับแต่งรอยแตกให้เรียบเนียน


อุดรูปรับสภาพให้ดีขึ้น
ปรับแต่งปุ่มคอให้เรียบเนียน
เปลี่ยนซาวด์โพสใหม่
ซ้ายเป็นอันใหม่
กลางเป็นของเดิม
ขวาของไวโอลินทั้วไป

ต้องเปลี่ยนหย่องใหม่ด้วยให้สูงขึ้น

และแล้วก็เสร็จออกมา



















เปรียบเทียบกับไวโอลินทั้วไป




12 กันยายน 2557

ไวโอลินเก่าดี......ถ้าทำมาดี

ทีแรกคิดจะตั้งชื่อเรื่องว่า   ไวโอลินเก่าใช่จะดีเสมอไป  แต่ฟังแล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยดี ผมเองก็นิยมชมชอบของเก่าๆ เหมือนกัน ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีด้วยแล้ว  ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่เรียกว่าขอให้ได้ดูสักนิดก็ยังดี  แต่ไม่ค่อยจะมีสะสมเท่าไหร่  อาศัยว่าได้ดูได้ชมก็สุขใจแล้ว

ไวโอลินทุกตัวอย่างไงซะวันหนึ่งก็จะกลายเป็นไวโอลินเก่า  ไวโอลินเก่าในวันนี้ก็เคยเป็นไวโอลินใหม่มาก่อน  หลายๆ ท่านอาจจะได้ยินได้ฟังมาว่าถ้าอยากได้ไวโอลินดีๆ ต้องเป็นไวโอลินเก่า   อันนี้ผมไม่เถียง  แต่ก็อยากจะให้พิจารณาอย่างมีเหตุมีผลด้วยสติ  ด้วยความรอบคอบ  อย่างเพิ่งเชื่อไปซะหมด เพราะไวโอลินโรงงานมีผลิตกันมาเป็น100 ปีแล้ว



อย่างไวโอลินเก่าคันนี้  ถ้าได้เห็นป้ายชื่อไวโอลินแล้ว ชื่อชั้นของเขาบอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา  แต่ถ้าพิจารณาจากเนื้องานแล้วบอกได้เลยว่าคงไม่ใช่ตัวตนของเขาอย่างแน่นอน  สิ่งที่เห็นต้องบอกว่าทำแบบขอไปทีให้มันเสร็จๆ  รีบเสร็จรีบขาย แล้วเอาป้ายชื่อของช่างทำไวโอลินดังๆ ในอดีตใส่เข้าไปเท่านั้นเอง.....

ความรู้บวกความเชื่อ  ที่เขาบอกว่าไวโอลินที่ดีต้องเบามัน  จริงครับผมยืนยันได้อย่างนั้น  แต่เชื่อไหมผู้ผลิตเขาฉลาดกว่าคนซื้อ  อยากได้เบาไช่ไหม....เบาแล้วดีใช่ไหม   งั้นก็จัดให้ตามความเชื่อแล้วกัน  ลดคุณภาพไม้ลง ลดชิ้นส่วนลง  เครื่องในเส้นสายต่างๆ ตัดออกให้หมด   ทำไปแบบส่งๆ ให้มันพอออกเป็นเป็นทรงได้  แล้วขาย....แถมขายดีอีกต่างหากเพราะมันเบา คนเขาเชื่อกันว่าดี

สำหรับผมแล้วน้ำหนักไวโอลินเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้นเอง  มันมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ผมให้ความสำคัญมากกว่า  ถ้าไวโอลินคันหนึ่งที่ผ่านการคัดสรรไม้มาเป็นอย่างดี รายละเอียดการทำดี  ไม่มีลักไก่  เลือกใช้ไม้เมเปิล สปรูซที่ดี   อุปกรณ์ Fittingที่ใช้เป็นไม้ชั้นดี  อย่างเช่น  Ebony , Rosewood หรือไม้เนื้อแข็งชั้นดีอย่างอื่น อย่างไงซะก็จะต้องมีน้ำหนักประมาณหนึ่ง  อย่างคันนี้รายละเอียดข้างในแทบไม่มีเลย  แถมเอาเศษไม้ที่เหลือมาทำสะพานนิ้ว เห็นแล้วเพลียเลย...




ไวโอลินเก่าหลายๆ ตัว แม้จะเป็นช่างที่ทำเลียนแบบ  ผมเห็นงานดีๆ สวยๆ ก็เยอะ  ที่สำคัญที่สุดคือให้น้ำเสียงที่ไพเราะ น่าฟัง  อันนี้น่าจะเป็นตัววัดที่ดีที่สุดประการหนึ่ง  แต่ถ้าจะพูดว่าไวโอลินคันไหนเสียงดีกว่าตัวไหน  ถ้าไวโอลินถูกสร้างออกมาอย่างดีแล้ว  การที่จะตัดสินว่าตัวนั้นดีกว่าตัวนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินยากลำบากอยู่  เพราะไวโอลินมันก็มีบุคลิคของมันอยู่  เหมือนนักร้องชื่อดังเราคงไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่า  นักร้องคนนี้เสียงดีกว่าอีกคน  คงเถียงกันไม่จบ เป็นเรื่องของความชอบ  บางคนชอบลุงทุ่งก็จะบอกว่าเสียงคนนี้ดี  บางคนชอบเพลงร็อคก็ต้องเป็นคนนี้  แจ๊ส หรือป๊อปก็ว่ากันไป

ส่วนไวโอลินคันไหนที่เสียงไม่ดี เป็นเรื่องที่ตัดสินได้ง่ายกว่าสำหรับผมนะ  ซึ่งถ้าสาเหตุมาจากการทำมาไม่ดีแต่แรกแล้ว  การจะปรับแต่งทำให้ได้เสียงดีก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  ปรับแต่ภายนอกก็ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น  เพราะแก่นหรือสาระที่แท้แล้วต้องมาจากภายในที่ถูกสร้างสรรอย่างดีก่อน  ถึงจะออกมาดีได้........