22 กุมภาพันธ์ 2555

ตัดแผ่นหลัง ไม้เมเปิล


การตัดไม้เมเปิล ซึ่งจะใช้ทำเป็นแผ่นหลังของไวโอลิน  เริ่มต้นก็ต้องหาไม้ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก..... อ้าว .... ก็ต้องอย่างนั้นสิ  เอ วันนี้เขียนอย่างไงนี่  ออกแนวกวนกวน  คือจริงๆ แล้ว การหาไม้เมเปิลไม่ยาก แต่การจะเลือกแผ่นไหนลายไม้เป็นอย่างไง  จะวางตำแหน่งการหรือเอาด้านไหนอยู่ในอยู่นอก  เพื่อให้งานออกมาสวยงาม  เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  ขึ้นกับสายตาประสบการณ์ของผู้สร้างแต่ละคน  อย่างแผ่นที่เห็นในรูปผมว่าอันนี้ยังไม่ค่อยยาก  แผ่นนี้เป็นไม้ชิ้นเดียวหน้ากว้าง 12 นิ้ว ยาวประมาณ 16 นิ้ว หนาเกือบ 1 นิ้ว เป็นไม้ที่ตัดมาแบบ slab saw เป็นการตัดผ่าลำต้นไม้ จากเปลือกไม้ด้านหนึ่งขาดไปอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งจะเห็นลายไม้ลักษณะอย่างในภาพ  การแปรรูปไม้ในปัจจุบันจึงเป็นการตัดในลักษณะนี้เพราะจะได้ไม้หน้ากว้าง เสียไม้น้อยกว่า    ส่วนการตัดอีกแบบคือการตัดแบบ Quarter saw เป็นการตัดแบบการเค้ก ซึ่งไม้แผ่นหน้าของไวโอลินเป็นการตัดแบบอย่างหลังนี้  จึงทำให้เห็นลายไม้เป็นแนวเส้นๆ อย่างที่เห็น  เส้นที่ว่านี้ก็คือเส้นวงปีของต้นไม้นั่นเอง


เราต้องไสปรับหน้าให้เรียบก่อนด้วยกบ  แต่ถ้าไม่ใช้กบก็ใช้เครื่องจักรไสไปซัก 2-3 รอบออกมาเรียบ  แต่ผมไม่ได้ใช้วิธีนี้เพราะไม่มีและไม่เหมาะสมที่จะใช้   เอาเป็นว่าขออธิบายในแบบที่ผมทำดีกว่า   หลังจากที่ได้ไม้ที่เรียบๆ แล้ว  เราจะเอาโครงข้างของไวโอลินหรือ Rib  ที่ขึ้นรูปไว้แล้วมาทาบแล้วลากเส้นตามแนวขอบ  ส่วนเส้นนอกใช้แหวนรองน็อตเล็ก ๆ แล้วขีดเป็นแนวอีกครั้งจะได้เป็นเส้นนอก  ซึ่งเส้นนอกนี้ก็คือเส้นแนวการตัด  ส่วนด้านที่เราเลือกนี้จะเป็นด้านในของแผ่นหลังเวลาประกอบเราจะไม่เห็นลายไม้ด้านนี้แต่จะเป็นอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งเราจะต้องเลือกดูก่อนที่จะวาดแนวการตัด  ไม้แผ่นนี้ลายจะเป็นแบบ The Everest 


เครื่องมือที่ใช้ในการตัดเป็นรุ่นพิเศษ  เพราะรุ่นนี้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า  ไม่ใช้น้ำมัน  เสียงเงียบไม่รบกวนใครที่สำคัญราคาถูกมาก  ไม่ต้องลงทุนเป็นหมื่นเป็นแสน  ใครๆ ก็ซื้อได้น่าใช้มาก


เลื่อยฉลุ Coping saw นี่เอง  ใช้แรงกายล้วนๆ  ข้างๆ นั้นเป็นโครงข้างที่ประกอบแผ่นหน้าแล้ว  ไม้ที่เราจะตัดนี้จะเป็นแผ่นหลังของไวโอลินตัวนี้ครับ 


การตัดไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาก เริ่มต้นตรงไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก ผมเลือกตรงมุมก่อนมันใกล้ดี วางไม้บนโต๊ะ หาปากกาจับไว้ให้แน่นแล้วลงมือตัด  จะใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้ไม่ว่ากัน  แต่พยายามให้ใบเลื่อยอยู่ในแนวตั้งฉากเป็นใช้ได้งานจะออกมาสวย 


เวลาตัดบางช่วงก็ง่าย  บางช่วงก็ยาก เพราะเป็นการตัดแนวโค้ง  ซึ่งจะต้องเจอทั้งการตัดตามแนวเสี้ยนและตัดแนวขวางเสี้ยน  ตามแนวเสี้ยนก็คือตามยาวแนวลายไม้  อันนี้จะตัดยากคือเลื่อยจะไม่ค่อยกินไม้เท่าไหร่  ส่วนตัดขวางจะไม่ค่อยยากเท่าไหร่  แต่ไวโอลินทรงออกแนวยาวมากกว่ากว้าง การตัดจึงต้องเจองานยากมากกว่าง่าย  

ชิ้นแรกที่ตัดออกมา  ใช้เวลาไป 35 นาที 


แนวโค้งตัว C บางทีก็ใช้เลื่อยอื่นร่วมด้วยก็ได้ ตัดขวางเสี้ยนแนวตรง  เพื่อความรวดเร็ว  หยดน้ำที่เปียกหยาดเหงื่อแรงกายล้วนๆ เลย


ตรงมุมที่วงเลี้ยวไม่ได้ก็ต้องตัดบางส่วนออกก่อน  แล้วจึ่งมาขึ้นต้นใหม่


ถึงช่วงปุ่มคอก็ถอยเลื่อยออก เลื่อยมันเลี้ยวหักมุมลำบาก  แล้วมาเริ่มตัดใหม่จากอีกด้านหนึ่่งจะง่ายกว่า


เสร็จไปกว่าครึ่งแล้ว  ที่เหลืออีกครึ่งก็ทำแบบเดียวกัน  แต่สลับด้านกัน

แล้วชิ้นสุดท้ายก็ถูกตัดออกมา  ใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง กับอีก 25 นาทีครับ  จากนั้นก็ตามด้วยน้ำอีกแก้วครึ่ง เสียเหงื่อไปเยอะ  


เลื่อยตัวนี้มีความพิเศษคือสามารุถปรับทิศทางใบเลื่อยได้  เวลาโครงเลื่อยเริ่มติดเราก็บิดหมุนปรับทิศทาง แต่ต้องปรับตัวบนและล่างให้อยู่แนวเดียวกัน


ลายอีกด้านหนึ่งของแผ่นไม้ ซึ่งด้านนี้จะอยู่ด้านนอก  เราจะเห็นลวดลายของแผ่นหลังจากด้านนีั  ตอนหน้าจะเป็นการทำที่ต่อจากขั้นตอนนี้  คือไสปรับด้านนอกสร้างรูปทรงให้โค้งนูนเหมือนไวโอลินที่เราเห็น


ไวโอลินตัวนี้ขอเรียกว่า Valentine แล้วกันนะครับ เพราะวันที่ผมทำ Bass bar เสร็จ และประกอบแผ่นหน้าเข้ากับโครงข้าง Rib  เป็นวันแห่งความรักพอดี



3 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ยอดมากครับดีมากๆครับ

    ตอบลบ
  3. ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสําหรับความรู้ดีๆเกี่ยวกับการสร้างไวโอลิน..ที่มีให้อ่านได้เรื่อยๆ..ไม้เมเปิลหาซื้อได้ที่ไหน..ราคาแพงไหมครับ..

    ตอบลบ