14 มีนาคม 2556

การเพลาะไม้ไวโอลิน

การเพลาะไม้ ( Edge Joint )



การเอาไม้มาติดกันแล้วได้ไม้หน้ากว้างขึ้นเรียกว่า การเพลาะไม้  แต่ถ้าเอาไม้มาติดกันแล้วได้ไม้ที่ยาวขึ้นเรียกว่า การต่อไม้ ซึ่งจะใช้ในการก่อสร้าง สร้างบ้านเรือน ต่อเสา ต่อคาน เป็นต้น  ส่วนเทคนิคสุดท้าย คือการเข้าไม้  เป็นการเอาไม้มาต่อกันเป็นมุมต่างๆ  นิยมใช้กับเครื่องเรือน การทำโต๊ะ เก้าอี้  เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ  
 ทำไมต้องเพลาะไม้........ ตอบง่ายๆ ตรงๆ ก็คือไม้มันกว้างไม่พอเลยต้องเอาไม้มาต่อกันให้ได้ความกว้างตามที่ต้องการ  ส่วนวิธีการการเพลาะไม้ ที่นิยมกันจำแนกได้ วิธี ด้วยกัน
1.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาว  ( glued and rubbed joint)
2.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับเดือยไม้ ( glued and dowelled joint)
3.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับการบังใบ ( glued and rabbeted joint)
4.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับรางลิ้น ( glued and tongued or grooved joint )
5.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับการสอดลิ้น ( glued and tongued or feathered joint)
6.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับตะปูเกลียว ( glued and wood screws)
7.      การเพลาะไม้ด้วยการใช้กาวร่วมกับตะปู ( glued and nail joint)

การทำไวโอลินะใช้เทคนิคในการเพลาะไม้ ในแบบที่ 1 คือใช้กาวในการยึดประสานไม้ให้ติดกันเท่านั้น ไม่มีเดือย ไม่มีตะปู หรือการเข้าลิ้นแต่อย่างใด  


 
ก    การเพลาะไม้ ไวโอลินใช้เทคนิคเดียวกัน ทั้งกับแผ่นหน้าและแผ่นหลัง  แต่แผ่นหลังอาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในกรณีที่ใช้ไม้เมเปิลหน้ากว้างซัก 9 นิ้ว ขึ้นไป ก็ทำเป็นแผ่นหลังชิ้นเดียว  ง่ายสำหรับช่างขึ้นอีกหน่อยแต่ไม้ก็หายากและแพงกว่า  สำหรับแผ่นหน้าเป็นไม้สปรูซ เป็นไม้ที่ใช้เทคนิคการตัดมาแบบ Quarter sawn ผมจะเรียกว่า การตัดแบบเค็ก  เพราะเข้าใจง่ายดี 



     ไม้สนเมื่อตัดออกมาแบบเค็ก เราจะเห็นลวดลายของไม้เป็นเส้นวงปี เป็นเส้นตรงยาว การเรียงตัวของเส้นวงปี ด้านในแกนกลางจะห่าง ค่อยๆ ไล่มาด้านนอกที่มีความถี่มากกว่า (ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้) ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม สมดุล และการคาดหวังในคุณสมบัติด้านเสียง จึงต้องใช้เป็นไม้ 2 ชิ้นมาเพลาะต่อกัน 

ไม้สปรูซหน้ากว้างประมาณ 4.5 นิ้ว ด้านนอกลายจะห่างกว่า

      การเพลาะไม้ไวโอลิน จะใช้ส่วนที่อยู่ด้านนอกของต้นที่มีเส้นวงปีละเอียดมาต่อกัน และค่อยๆ ใหญ่ขึ้นไปสุดที่ขอบ  ส่วนที่กว้างที่สุดของไวโอลิน จะอยู่ที่ประมาณ 8 นิ้ว 2 หุน  


      ส่วนเทคนิคในการเพลาะไม้ อธิบายได้สั้นๆ คือทำให้บริเวณที่จะต่อกันทั้ง 2 แผ่นเรียบและได้ฉาก เวลาประกบกันให้เรียบเนียนสนิท เครื่องมือที่ใช้ก็ต้องมีกบไสไม้ เอฟแค็มป์ และมีกาวเป็นตัวประสานเท่านั้น  เมื่อทุกอย่างได้ที่แล้ว ก็ทากาวบริเวณรอยต่อทั้ง 2 แผ่น ใช้เอฟแค็มป์ บีบจับไว้รอกาวแห้ง 24 ชั่วโมง ก็เป็นใช้ได้


ทดสอบประกบดู บริเวณรอยต่อต้องเรียบเนียนสนิท

      สำหรับไวโอลิน การเลือกใช้ไม้ที่มาเพลาะต่อกันจะใช้ไม้ในช่วงลำต้นที่ระยะเดียวกัน  ซึ่งจะทำให้ลายไม้ที่ได้ที้งซีกซ้ายและขวา มีลายที่สมมาตรใกล้เคียงกัน ทำให้หน้าไม้ที่ออกมาสวยงาม จะไม่นิยมใช้วิธีใช้ไม้แผ่นเดียวกัน (ยาวซัก 30 นิ้ว) มาตัดครึ่งแล้วมาเพลาะต่อกัน โอกาสที่จะได้ลายที่สวยสมดุลเป็นเรื่องยาก


       จะว่าไปดูแล้วก็ง่ายๆ แต่กว่าผมจะทำได้ก็ใช้เวลาฝึกฝนพอสมควรทีเดียว ประเด็นหลักของการเพลาะไม้อยู่ที่การทำให้หน้าสัมผัสของไม้ทั้ง 2 แผ่นเรียบ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยาก แค่ทากาว แล้วใช้แค็มป์จับเช็ดกาวที่เกินออก แล้วรอเวลาให้กาวแห้งสนิท 

       

        การเพลาะไม้ในลักษณะนี้ทำให้ซีกซ้ายและขวา เสี้ยนไม้มันจะไปกันคนละทาง ย้อนกันอยู๋  การไสขึ้นรูปก็ต้องอาศัยเทคนิคไสพลิกไปพลิกมา  อันนี้แล้วแต่เทคนิคกับเครื่องมือที่ช่างใช้


     เมื่อกาวแห้งแล้วก็จะได้ไม้หน้ากว้างตามต้องการดูแล้วเหมือนเหมือนไม้แผ่นเดียว  จากนั้นก็เอาไสปรับอีกครั้งให้เรียบเนียน พร้อมส่งต่อสำหรับงานขั้นต่อไปครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น