3 พฤษภาคม 2555

The Red Violin

ภาพยนตร์ที่คนรักไวโอลินควรดู

ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องไวโอลินหาความรู้ต่างๆ จากในเน็ต  มีคนที่พูดถึงหนังเรื่องนี้เยอะว่าคนที่รักไวโอลินควรได้ดู  จากนั้นมาผมก็พยายามหาตามร้านที่จำหน่าย ในตลาดนัด แผงค้าต่างๆ แต่ก็หาไม่เจอ .....โถ หนังตั้งแต่ปี 1998  มัน 14 ปีแล้วใครจะมาขายอยู่  แล้วก็ค่อยๆ ลืมไป จนผ่านมาวันนี้ถึงได้มีโอกาสดูจนจบ  มาหาเจอใน YouTube  แม้จะฟังไม่รู้เรื่องเลยไม่มีซับไตเติลแต่ก็พอเข้าใจ    

หลังจากที่ดูจบแบบฟังไม่รู้เรื่อง ก็เกิดความสงสัยว่ามันมีจริงหรือเปล่า สำหรับช่างชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้ Nicolo Bussotti  ลองค้นหาดูปรากฎว่าไม่มี แต่หนังเรื่องนี้สร้างจากแรงบันดาลใจของไวโอลินตัวหนึ่ง Red Mendelssohn 1721  ของ Antonio Stradivari ซึ่งทำวานิชออกโทนสีแดงแต่ไม่ใช่การย้อมสีด้วยเลือดอย่างในหนัง  ไวโอลินตัวนี้ถูกประมูลไปด้วยราคา 1.7 ล้านเหรียญ ที่สถานประมูล Christie กรุงลอนดอน มาอยู่ในมือของ Elizabeth Pitcairn นักไวโอลินฝีมือเยี่ยมในปัจจุบัน (ก่อนหน้าเธอไปดูไวโอลินอีกตัวเป็นของStrad เช่นกัน ราคา 1.4 ล้านเหรียญแต่ยังไม่ถูกใจ)  ดูตัวจริงเสียงจริงจากลิงค์ข้างล่างนี้

http://www.youtube.com/watch?v=4ViTIFEK5Fo

http://en.wikipedia.org/wiki/The_Red_Violin

Red Mendelssohn  สร้างขึ้นเมื่อปี 1721 (ใกล้เคียงกับพี่ Josep Guarnerius ที่ทำขึ้นปี 1725 ) ผมลองคำนวนดูตอนนั้น Stradivari ท่านก็มีอายุ 77 ปี ยุคทองของท่านอยู่ในช่วงปี 1700-1720 หรือช่วงอายุ  56-76 ปี จากโลกนี้ไปตอนอายุ 93 ปี ถือว่าอายุยืนมาก  เพิ่มเติม  http://en.wikipedia.org/wiki/Antonio_Stradivari


สิ่งที่ได้จากการชมหนังเรื่องนี้ เพลงเพราะมากฝีมือการบรรเลงสุดยอดจริงๆ   อยากจะเล่นได้อย่างนี้บ้างจัง (ฝันไป)  หนังที่เล่าเรื่องราวของไวโอลินตั้งแต่เสร็จจากมือช่าง ผ่านระยะเวลา การเดินทางจนมาถึงปัจจุบัน  ทำให้ผมคิดไปถึงพี่ Josef  ไม่รู้ว่าผ่านเรื่องราว ผ่านมือคนมากี่คน  เคยไปอยู่ที่ไหนมาบ้าง กว่าสุดท้ายจะมาอยู่ในมือของผม   




ข้อมูลของหนัง  เรื่องย่อ (ข้อมูลจากเน็ต) 

นี่คือหนังสำหรับคนรักดนตรี โดยเฉพาะเสียงไวโอลิน (จากฝีมือเดี่ยวของโจชัว เบลล์: Joshua Bell) ซึ่งบรรเลงทั้งดนตรีคลาสสิคและดนตรีที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับใช้กับไวโอลินโดย จอห์น คอริกลิอาโน่.(John Corigliano) โดยได้รับรางวัล Oscar สาขา Best Music, Original Score และเป็นบทเพลงที่ยังได้รับคำนิยมจนปัจจุบัน และการตัดต่อที่สมบูรณ์แบบระหว่างอดีตทั้ง 4 ยุคกับปัจจุบัน ที่คุณจะต้องตะลึง… 

การเดินทางระหกระเหินของไวโอลินที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความรักที่รุนแรง และวนเวียนอยู่กับความรู้สึก เช่นนั้น ตลอดเวลาราว 300 ปีที่มี ผู้ผลัดกันครอบครองอย่างน้อย 4 ชั่วอายุคนใน 4 แผ่นดินจากอิตาลี สู่ออสเตรีย อังกฤษและจีน นอกเหนือจากเรื่องราวเข้มข้นของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องประสบเหมือนกันก็คือ…ความตาย ไม่มีใครล่วงรู้ถึงความลึกลับของไวโอลินสีแดงตัวนี้ จนกระทั่ง ชาร์ล มอรร์ริทส์ (Samuel L. Jackson)ได้ซื้อมันมาจากร้านประมูลแห่งหนึ่งในอีก 3 ศตวรรษต่อมา 

พล็อตเรื่องเกี่ยวกับไวโอลินตัวหนึ่งถูกสร้างโดยช่างทำไวโอลินชาวอิตาลี (Nicolo Bussotti) เมื่อสามศตวรรษที่แล้วในปี ค.ศ.1681 เพื่อเตรียมให้กับลูกที่กำลังจะคลอดของเขา โชคร้ายที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตระหว่างคลอด ไวโอลินตัวนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้สร้าง เวลาผ่านไปไวโอลินตัวนี้ถูกบริจาคให้โบสถ์ที่เลี้ยงเด็กกำพร้าในออสเตรีย มีเด็กหลายคนได้เล่นต่อๆกันมา จนมีเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งได้เล่น และมีนักดนตรีที่เห็นแววพาไปที่เวียนนาเพื่อแสดงให้เจ้าชายคัดเลือกสำหรับร่วมในการเดินทางไปรัสเซียของพระองค์ โชคร้ายอีกครั้งที่เด็กคนนี้เสียชีวิตต่อหน้าพระพักตร์ด้วยความเครียดและเดิมเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ไวโอลินถูกฝังพร้อมศพ แต่มีหัวขโมยได้มาขุดหลุมศพนำไวโอลินไป ครั้งนี้ไวโอลินตัวนั้นถูกเล่นต่อๆกันในกลุ่มยิปซีเร่ร่อน จนเมื่อมาถึงอังกฤษ เจ้าของที่ดินที่ยิปซีมาพักซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีสไตล์เฉพาะตัวในสมัยนั้นได้เห็นและนำไวโอลินนี้ไปใช้ในการแสดงของเขา การแสดงของเขาต้องมาจากแรงบันดาลใจที่เกิดจากหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอเองเป็นนักประพันธ์ที่ต้องการแรงบันดาลใจในการเขียนเช่นกัน เธอจึงเดินทางไปรัสเซีย และกลับมาพบว่าเขาหาแรงบันดาลใจจากหญิงอื่นเมื่อไม่มีเธอ เธอยิงไวโอลินตัวนั้นเสียหาย แล้วจากไป เขาฆ่าตัวตายในที่สุดเพราะสูญเสียแรงบันดาลใจและอ่อนแอเพราะฝิ่น ไวโอลินถูกนำข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองจีนที่เซี่ยงไฮ้โดยคนรับใช้ชาวจีนของเขาที่กลับเมืองจีนและนำไวโอลินตัวนั้นไปขายในร้ายขายของเก่า ไวโอลินถูกขายต่อให้แม่ลูกชาวจีนคู่หนึ่ง ลูกสาวเมื่อเติบโตขึ้นตกอยู่ในช่วงปฏิวัติการปกครองของจีน เครื่องดนตรีตะวันตกจะถูกทำลาย ไวโอลินถูกมอบให้อาจารย์สอนดนตรีผู้เก็บเครื่องดนตรีหลบซ่อนการทำลายของเรดการ์ดจนสิ้นสุดยุคประธานเหมา ในที่สุดรัฐบาลจีนได้มอบคอลเลกชั่นเครื่องดนตรีเหล่านี้กลับมาสู่ประเทศตะวันตก จนเข้าสู่การประมูลในเมืองมอลทรีลออลในแคนาดา ฉากการประมูลเป็นฉากนำเรื่องจากนั้นหนังตัดเรื่องไปมาระหว่างแต่ละช่วงเวลาเดินทางของไวโอลิน ซึ่งตัดภาพได้เรียบรื่นดีมาก แล้วเรื่องมาเฉลยกันตอนจบว่าช่างทำไวโอลินได้นำเลือดของภรรยาผู้เสียชีวิตมาทาสีไวโอลินโดยใช้แปรงที่ทำจากผมของเธอ ชื่อเรื่องภาษาไทยที่ตั้งชื่อว่า ไวโอลินเลือด จึงสื่อเนื้อหาส่วนนี้เข้าไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น