28 เมษายน 2555

The Eye

ไวโอลินที่ยังไร้ชื่อ  



เป็นไวโอลินอีกตัวที่ผมทำเสร็จมาระยะหนึ่งแล้ว  มีโอกาสได้ส่งไปทดสอบเสียงมาแล้ว  วันนี้อยากจะขอคุยถึงตัวนี้ซักหน่อย  พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าตาของบล็อค  ซึ่งทำให้ผมต้องเรียนรู้ปรับตัวกับมันนิดหน่อยลองดูว่ามีอะไรใหม่ๆ ให้เล่นบ้าง




ตัวนี้เป็นแบบดั้งเดิม  ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่าช่วงหลังมาผมเริ่มทำอะไรที่ไม่ค่อยจะเหมือนๆ ชาวบ้านเค้า  เริ่มแปลกออกไปทุกที  โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจน เมษยน 55  ไม่ได้ทำแบบดั้งเดิมเลย ล่าสุดมาทำไวโอลินในโครงการ Without sound post No bass bar  ก็กำลังลุ้นว่าผมออกมาจะเป็นอย่างไร  ฟังชื่อแล้วหลายๆ ท่านที่เล่นอยู่คงจะว่าผมสติเฟื่องมันจะเป็นไปได้อย่างไร  ของเดิมมันก็ดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนมันทำไม  ......นั่นนะซิ  ค่อยมาว่ากันต่อถ้าสำเร็จ 



ไม้ที่ใช้เป็นไม้จริงทั้งหมดตามแบบฉบับของไวโอลินชั้นดี


ที่แปลกและแตกต่างไปก็ยังคงเป็นจุดเดิมด้านหลังและปุ่มคอ  คงความเป็นเอกลักษณฺ์ส่วนตัวไว้  ดูแล้วมันก็น่ารักดี

ฟังเสียงทดสอบ  






23 เมษายน 2555

Rib bending Iron

ผมพยายามนึกชื่อที่เป็นภาษาไทย  ไม่รู้ว่าจะใช้ศัพย์อะไรดี  เรียกว่าเครื่องดัดโครงไวโอลินหรือจะเป็นเตารีดดัดไวโอลิน  แต่จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ให้เข้าใจว่ามันทำเพื่อดัดโครงข้าง (Rib) จากแผ่นไม้บางๆ ยาวๆ ตรงๆ ให้มีรูปทรงโค้งๆ เป็นรูปไวโอลิน  เครื่องดนตรีชนิดอื่นที่มีลักษณะแบบเดียวกันนี้ก็ต้องใช้เหมือนกัน เช่น เชลโล่  กีตาร์ แบนโจ


เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นในการทำเครื่องดนตรี  ผมพยายามหาซื้อในหลายๆ ที่ในประเทศไทยเราไม่สามารถหาซื้อได้  และตอนนั้นก็ไม่เข้าใจการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ  ใช้เวลาอยู่นานศึกษาหาวิธีการอยู่นาน  สุดท้ายตัดสินใจลองทำเองเลย  เรียกว่าต้องดิ้นรนกันเลยทีเดียวกว่าจะได้มันมา  


การทำงานของมันเหมือนเตารีดที่เราใช้รีดผ้าธรรมดาๆ นี่เอง  และการดัดโครงข้างก็เหมือนกับการรีดผ้านี่แหละ  เพียงแต่เปลี่ยนจากผ้าเป็นไม้และเตารีดหน้าเรียบๆ เป็นเตารีดแท่งทรงกลมเท่านั้น  อุปกรณ์ที่ผมใช้ก็จะมีดังนี้
1. ฮีตเตอร์แท่ง ผมสั่งทำจากร้านค้าในเน็ต 1 แท่ง
2. เทอร์โมสตรัท สั่งซื้อจากร้านทำฮีตเตอร์
3. แท่งเหล็ก 1 แท่ง หาซื้อจากร้านขายเศษเหล็กหากันอยู่นานก็ได้มาแท่งละ 20 บาท
4. สวิตท์ เปิดปิด ตัวนี้จะไม่ใช้ก็ได้  เอาแบบง่าย ๆ เสียบปลั๊กแล้วใช้งานได้เลยก็ได้
5. ไม้อัด
6. กาวร้อน
7. น็อตสั่นๆ 4 ตัว
8. เหล็กแผ่นบาง 1 แผ่น
9. กระเบื้องฝ้าเพดานแผ่นเรียบ  (เอามาทำอะไรนี่)
10. ปลั๊กตัวผู้และสายไฟ  อันนี้ผมหาจากเครื่องไฟฟ้าเก่าที่เสียแล้ว หาเส้นดีๆ หนาๆ หน่อย

การทำก็เริ่มจากออกแบบกล่องไม้  โดยใช้ไม้อัดตัดออกมาเป็นชิ้น ๆ ให้ได้เป็นกล่องไม้ส่วนฐานกล่องจใหญ่หน่อยจะยาวกว่า ไว้เป็นที่ฐานให้ยึดจับด้วยปากกาติดกับโต๊ะ  ส่วนแท่งเหล็กผมไปจ้างให้ร้านกลึงให้เขาช่วยเจาะเป็นรูขนาดเท่ากับแท่งฮีตเตอร์  ขูดหน้าให้เรียบ และยึดติดเข้ากับแผ่นเหล็กบางให้เป็นฐาน ตรงแผ่นเหล็กต้องเจาะรูให้ฮีตเตอร์ผ่านเข้าไปได้ด้วย


ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างที่เห็นในภาพ  ส่วนที่เห็นเป็นแผ่นข้างล่างไม่ใช่อะไรคือแผ่นกระเบื้องเห็นมีเหลือทิ้งไว้ที่บ้านเลยเอามาใส่กะว่าให้เป็นฉนวนกันร้อน..... (โอ๊ย คิดได้อย่างไงนี่ มันไม่ใช่บ้านนะ แต่ลองดูก็ไม่เสียหายอะไร อิอิ) 


ประกอบเทอร์โมสตรัท และสวิทต์เข้ากับตัวกล่อง ตัวเทอร์โมสตรัทจะเป็นตัวคอยควบคุมอุณหภูมิตามค่าที่ตั้งไว้ปรับได้ 0-200 องศาเซลเซียส เรียกว่าปรับไฟเหมือนการรีดผ้าเลย ร้อนมากร้อนน้อย ปรับให้เข้ากับชนิดของผ้า  อันนี้เหมือนกันเลย ไม้หนาก็ปรับให้ร้อนมากไม้บางก็ร้อนน้อยลงเป็นต้น

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของร้านซ่อมไฟฟ้าให้เขาบัดกรีเชื่อมต่อสายไฟ ต่อระบบให้เรียบร้อย  เสร็จแล้วก็ประกอบทุกอย่างเข้าที่ แล้วทดสอบปรากฏว่า แท่งเหล็กร้อนมากจนเปลี่ยนสีเลย ผมต้องรีบปิดสวิทต์ แล้วหาสาเหตุ  จนมารู้ว่าต้องเอากระเปาะตรงปลายตัวเทอร์โทสตรัท ไปแนบกับแท่งเหล็กด้วยเพื่อจับค่าอุณหภูมิและให้เทอร์โมสตรัททำหน้าที่ตัดต่อไฟเพื่อรักษาอุณหภูมิตามที่กำหนด  เลยต้องถอดออกมาแก้ไขอีกเล็กน้อยก็เป็นอันสำเร็จ  ปัจจุบันยังใช้งานได้ดีแม้จะเจอพายุฤดูร้อน เจอฝนมาแล้วก็ตาม


การใช้งานอย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าเหมือนการรีดผ้า แต่เปลี่ยนเป็นไม้แทน  เอาไม้แผ่นบางไปจุ่มหรือแช่น้ำ เปิดเครื่องดัดตั้งอุณหภูมิช่วง 120-150 องศา แล้วค่อยๆ ดัดให้ได้รูปทรงที่ต้องการ


เจ้าเครื่องดัดตัวนี้ดูแล้วอาจจะไม่สวยงามมากมายนัก ผมต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้มันมา แต่มันก็ทำให้เราภาคภูมิใจที่ได้ทำเองและสามารถใช้งานได้ดี 

17 เมษายน 2555

Jack plane



ช่วงแรกของการทำงานผมจะศึกษาเรื่องของกบไสไม้ค่อนข้างมาก พื้นฐานงานไม้ก็ได้มาจากเครืองมือชิ้นนี้  เห็นในเน็ตฝรั่งเขาก็มีกบไสไม้สวยดีก็อยากได้บ้างแต่ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไง  สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็คิดว่าน่าจะลองทำเองดูบ้าง


Jack plane ถ้าเป็นบ้านเราก็น่าจะคล้ายๆ กับกบล้าง  จากลักษณะของใบกบที่เอียงลาดชันอยู่ที่ 45 องศา  ของฝรั่งเขาจะเอียงกว่าบ้านเราเล็กน้อย  แต่ถ้าเป็นกบผิวองศาจะสูงฝรั่งเขาจะเรียกว่า smooth plane  กบไม้ของฝรั่งเขาจะทำแบบมีมือจับคล้ายกับกบเหล็ก

การใช้งาน Jack plane ก็ใช้เช่นงานเดียวกับกบล้างเช่นกัน เป็นการปรับผิวหน้าให้เรียบในเบื้องต้น ไสเพลาะไม้ อย่างตัวที่เห็นมีความยาว 15 นิ้ว ซึ่งก็ถือว่าเกินพอสำหรับงานไวโอลินแล้ว

ผมได้สาธิตการทำแบบง่ายๆ ไว้ เรียกว่าหาไม้จากที่เหลือเอามาต่อๆ กัน แต่บริเวณหน้ากบจะใช้ไม้ชิงชันเสริมเข้าไปให้มีความ่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น  ส่วนชิ้นอื่นๆ จะเป็นไม้มะค่าที่เอามาตัดต่อ  และใช้กาวประสานให้มีขนาดที่ต้องการ  เรียกว่าใช้ไม้อย่างคุ้มค่าที่สุด



ไม้ชิงชันแผ่นสั้น เป็นส่วนท้องกบ



ทำร่องไว้เสริมเหล็ก



ไม้ที่จะนำมาประกบด้านข้าง






ลองทดสอบใช้งาน




ท้องกบจากไม้ชิงชัน เสริมเหล็กบริเวณปาก

12 เมษายน 2555

สว่านสามเฟือง


สว่านเป็นเครื่องพื้นฐานตัวหนึ่งสำหรับงานไม้ รวมถึงงานสร้างไวโอลินด้วย  ปัจจุบันคงใช้เป็นสว่านไฟฟ้ากันเสียส่วนใหญ่เพราะง่ายและผ่อนแรงดี  แต่โดยส่วนตัวแล้วกลับชอบตัวนี้มากกว่าไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นสว่านมือ  แบบสามเฟือง หรือบางทีก็เรียกว่าสว่านหุ้มเฟือง


เป็นสว่านเก่าผลิตในโปแลนด์  หัวสว่านถูกเปลี่ยนไม่ใช่ของเดิมผ่านการซ่อมแบบหยาบๆ มาแล้ว  ตอนที่ได้มาสว่านมีปัญหาเฟืองติด ผมต้องถอดออกมาบูรณะใหม่  ตอนนี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี


การใช้งานสำหรับงานไวโอลิน  จะเป็นการเจาะนำแล้วเจาะตามด้วย Reamer ทั้งในส่วนของรูลูกบิด peg hole หรือรูสำหรับปุ่มท้าย End button อย่างที่เห็นในภาพ


ตัวนี้เรียกว่า Reamer ซึ่งจะใช้ต่อมาหลังจากใช้สว่านเจาะรูนำแล้ว


สว่านสามเฟืองอีกตัวขนาดเล็กกว่าตัวแรกยังอยู่ในสภาพเดิม แต่ที่มือจับแกนหมุนคงหักไปผมต้องทำมือจับขึ้นมาใหม่จากเศษไม้เมเปิล

2 ตัวถ่ายคู่กัน

6 เมษายน 2555

โครงสร้างไวโอลิน



ผมพยายามหาหนังสือที่มีภาพประกอบเกี่ยวกับโครงสร้างไวโอลิน จนได้พบกับหนังสือเล่มนี้ The Cambridge Companion to the Violin   (Edited by Robin Stowell)   ขออนุญาตินำภาพบางส่วนมาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจสำหรับผู้ที่ศึกษาไวโอลินจะได้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น





ภาพนี้อธิบายถึงไม้ที่ใช้ทำแผ่นหน้า  เป็นไม้สนซึ่งระบุสายพันธ์ไว้ด้านล่าง  ลักษณะการตัดไม้ซึ่งเป็นการตัดแบบ Quarter sawn หรือการตัดแบบเค็ก  ตัดเป็นไม้ 2 ชิ้นมาต่อกันส่วนที่เป็นแนวรอยต่อเป็นไม้ที่ได้จากส่วนที่ใกล้ ๆ เปลือกไม้หรือกระพี้  ส่วนขอบของแผ่นหน้าจึงเป็นไม้ที่อยู่ติดกับแก่นลำต้นของไม้



ภาพนี้เป็นอธิบายถึงไม้ส่วนที่ใช้ทำแผ่นหลัง   จากไม้เมเปิลมีลักษณะการตัดไม้ 2 แบบ คือแบบ  Quarter-Sawn และ Slab-Sawn มีผลทำให้เกิดลายไม้แต่งต่างกันอย่างในภาพ Fig 3