27 กุมภาพันธ์ 2555

ไสแผ่นหลัง Valentine


หลังจากผ่านการตัดมาแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการไสปรับรูปทรงด้านนอกของแผ่นหลังก่อน  ส่วนด้านในก็เก็บไว้ทำหลังจากที่ไสด้านนอกแล้ว  เครื่องมือที่ได้ก็พื้นฐานทั่วไปครับ  มีสิ่วโค้ง  กบท้องมน อาจมีฆ้อนพลาสติกด้วยในบางช่วง  จะใช้ฆ้อนไม้หรือตะลุมพุก็ได้

  
การไสแผ่นหลังมีหลักอยู่ว่า เราจะไสปรับบริเวณขอบรอบ ๆ ออกให้บางเหลือประมาณ 5 ม.ม. ในขั้นต้นก่อน ค่อยๆ ไล่ระดับไปให้สูงขึ้น บริเวณตรงกลางจะสูงซึ่งจะสูงสุดประมาณ 1.5 ซ.ม. 

  
เริ่มต้นอาจจะใช้สิ่วหรือกบก็ได้แล้วแต่ถนัด ถ้าเป็นกบก็ต้องใช้ขนาดใหญ่หน่อยกินเนื้อไม้ลึก ถ้าใช้ตัวเล็กก็ได้แต่คงเหนื่อยมากและใช้เวลานาน  ช่วงแรกผมยังไม่สนใจทิศทางการไสเท่าไหร่  เรียกว่าเน้นเอาเนื้อไม้ที่ไม่ใช้ออกให้มากที่สุดก่อน  อาจย้อนเสี้ยนบ้างแล้วค่อยมาปรับอีกที


การใช้สิ่วสลับกับการใช้กบ  ผมยังใช้เทคนิคเดิมคือเน้นเอาเนื้อไม้ออก  ช่วงแรกที่ไม้ยังหนาอยู่ก็ยังไม่ต้องระวังมากแต่พอเริ่มบางได้รูปทรงแล้วการใช้สิ่วต้องละเอียดและดูแนวเสี้ยนไม้ด้วย  เพราะอาจทำให้ไม้ฉีกได้  พอถึงจะหนึ่งก็จะเลิกใช้สิ่ว  


เมื่อไสถึงจุดหนึ่งเริ่มมีรูปทรง ไม้บางลง ก็จะเป็นหน้าที่ของกบตัวเก่ง ค่อยๆ ไสปรับไปเรื่อยๆ 

เศษไม้และขี้กบ จากการไสไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลังที่กำลังทำ  การทำงานไม้หนีไม่พ้นเรื่องฝุ่น คนทำก็ต้องมอมแมมบ้าง แต่ใจรักก็ทำได้อยู่แล้ว


ช่วงโค้งตัวซี ผมชอบใช้สิ่วค่อยๆ ขุดออก บางทีก็ใช้ฆ้อนพลาสติกตอกบ้าง ลดการใช้กำลังอย่างเดียว


เครื่องมือตัวนี้ใช้ในการควบคุมความสูงของแผ่นหลัง  โดยใช้จุดกึ่งกลางของแผ่นหลังเป็นเกณฑ์  ตั้งเครื่องมือวัดไว้ที่ความสูง 1.5 ซ.ม. ถ้าดันเข้าไปถึงตรงกลางได้ถือว่าผ่าน 

การบังคับรูปทรงก็ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด  ทั้งสายตา มือสัมผัส หูฟังเสียงไม้  รวมทั้งทักษะและประสบการณ์  ซึ่งอธิบายได้ยากลำบากสิ่งเดียวที่ช่วยได้คือต้องปฏิบัติด้วยตนเอง และถ้ามีผู้รู้ช่วยแนะนำก็จะเป็นประโยชน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น